มาดูกัน เสาเข็มไอ ใช้ทำอะไรได้บ้าง

เรื่อง: ชวนนท์ โฆษกิจจาเลิศ

เสาเข็มไอ ใช้ทำอะไรได้บ้าง

รู้จักกับเสาเข็มไอให้มากขึ้นทั้งในเรื่องรูปแบบ การใช้งาน และจุดเด่นที่แตกต่างจากเสาเข็มประเภทอื่น

       เสาเข็มไอ เป็นรูปแบบหนึ่งของเสาเข็มตอก (Driven Pile) ที่ได้รับความนิยมในงานก่อสร้างตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เสาเข็มไอผลิตจากคอนกรีตอัดแรง ซึ่งเป็นเทคนิคในการเสริมความแข็งแรงให้แก่เสาเข็มไม่ให้หักง่ายและทนต่อแรงตอก การผลิตจะเริ่มจากการวางลวดเหล็กลงในแม่แบบแล้วดึงลวดให้ตึงก่อนเทคอนกรีต เมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้วจึงตัดปลายลวดส่วนที่เกินแบบหล่อออกมาทิ้ง ลวดจะหดตัวส่งผลให้เกิดแรงอัดในเนื้อคอนกรีต คอนกรีตจึงแข็งแรงมากขึ้นจนสามารถผลิตเสาเข็มยาวๆ ได้โดยที่เสาไม่หัก

ภาพ: ตัวอย่างเสาเข็มไอซีแพค

       เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมีหลายหน้าตัด เช่น หน้าตัดสี่เหลี่ยมตัน หน้าตัดสี่เหลี่ยมกลวง หน้าตัดตัวไอ หน้าตัดตัวที หน้าตัดหกเหลี่ยมกลวง เป็นต้น ความสามารถในการรับน้ำหนักของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงแต่ละหน้าตัดเป็นไปตามรายละเอียดของผู้ผลิตแต่ละราย และการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของวิศวกร สำหรับเสาเข็มไอจะมีขนาดหน้าตัดตั้งแต่ 12×12 ซม. ไปจนถึง 40×40 ซม. และมีความยาวตั้งแต่ 1 – 28 เมตร ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต หน้าตัดที่ใหญ่และความยาวที่มากกว่าจะรับน้ำหนักได้มากขึ้นตามลำดับ เสาเข็มไอมีจุดเด่นที่มีความยาวเส้นรอบรูปมากกว่าเสาเข็มหน้าตัดอื่น จึงรับแรงเสียดทานได้มากกว่า

ภาพ: ตัวอย่างเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงหน้าตัดต่าง ๆ

ภาพ: ตัวอย่างตารางแสดงขนาดเสาเข็มไอสำหรับงานก่อสร้างขนาดเล็ก

(ขอบคุณข้อมูล https://web.cpac.co.th)

ภาพ: ตัวอย่างตารางแสดงขนาดเสาเข็มไอสำหรับงานก่อสร้างอาคาร

       การตอกเสาเข็มไอจะอาศัยแรงคนกดหรือใช้เครื่องจักรกดหรือตอกให้จมลงในดิน ข้อดีคือการก่อสร้างทำได้ไม่ซับซ้อน แต่ข้อเสียคือมีแรงสั่นสะเทือนรบกวนพื้นที่ข้างเคียง และมีการเคลื่อนตัวของดินจากการแทนที่ด้วยเสาเข็ม โดยเฉพาะกรณีเสาเข็มยาวที่ต้องตอกด้วยปั้นจั่นในงานก่อสร้างบ้านหรืออาคารเป็นหลัง ๆ อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้เสาเข็มที่ตอกด้วยปั้นจั่นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดทางกฎหมายเป็นสำคัญ โดยประกาศกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2539 กำหนดให้ตำแหน่งของเสาเข็มที่อยู่ห่างจากอาคารต่างเจ้าของน้อยกว่า 30 เมตร ให้ใช้ระบบเสาเข็มที่มีการเจาะดินออกบ้างหรือทั้งหมด ทำให้การตอกเสาเข็มที่ใกล้อาคารข้างเคียงต้องใช้หัวเจาะเจาะดินออกก่อนแล้วค่อยเสียบเสาเข็มลงไป เรียกกว่าการทำเสาเข็มเจาะเสียบ (Auger Press Pile) หรือต้องเปลี่ยนมาใช้เสาเข็มเจาะแทน

ภาพ: การตอกเสาเข็มไอด้วยปั้นจั่นต้องอยู่ห่างจากอาคารข้างเคียงอย่างน้อย 30 เมตร

       เสาเข็มไอใช้ในงานก่อสร้างได้หลากหลายประเภทตั้งแต่ บ้าน อาคาร รั้ว โรงจอดรถ งานต่อเติม งานเสริมความแข็งแรงของถนน งานสระว่ายน้ำหรือบ่อน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ เสาเข็มไอที่มีหน้าตัดขนาด 16×16 ซม. ขึ้นไปยังสามารถใช้ในงานก่อสร้างกำแพงกันดินได้ด้วย เนื่องจากเสาเข็มไอจะมีร่องทั้งสองด้าน ทำให้สามารถเสียบแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูประหว่างร่องของเสาเข็มที่ตอกเป็นระยะได้ สำหรับระยะห่างระหว่างเสาเข็มไอแต่ละต้นจะขึ้นอยู่กับความสูงของดินซึ่งจะต้องอาศัยการคำนวณโดยวิศวกร

ภาพ: ตัวอย่างการก่อสร้างกำแพงกันดินด้วยเสาเข็มไอ

       โดยสรุปเสาเข็มไอ เป็นเสาเข็มตอกที่ผลิตจากคอนกรีตอัดแรง มีขนาดหน้าตัดและความยาวหลากหลาย หน้าตัดตัวไอที่มีเส้นรอบรูปมากกว่าหน้าตัดอื่น ๆ ทำให้เกิดแรงเสียดทานที่พื้นผิวเสาเข็มกับดินได้มากกว่า เสาเข็มไอจึงนิยมใช้ในงานก่อสร้างอาคารแทบทุกประเภท รวมถึงงานก่อสร้างขนาดเล็กอย่างงานต่อเติมทั่วไป รั้ว กำแพงกันดิน โรงจอดรถ สระว่ายน้ำ ฯลฯ

ชวนนท์ โฆษกิจจาเลิศ
การศึกษา: สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณที่มา: https://www.scgbuildingmaterials.com/