อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนของแบบสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบก่อสร้างที่เจ้าของบ้านสามารถทำความเข้าใจได้ เพราะเป็นส่วนที่เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการเลือกวัสดุตกแต่งต่างๆ ไปจนถึงสเปคของวัสดุที่ใช้ หาเวลาศึกษาและทำความเข้าใจสักหน่อยก็เข้าร่วมวงสนทนาได้อย่างสบาย รู้ทันสถาปนิกและผู้รับเหมา เพราะเมื่อมีความเข้าใจตรงกัน ก็จะส่งผลให้งานก่อสร้างราบรื่นไปได้ในระดับหนึ่ง
รู้จักกับภาพรวมของแบบแต่ละแผ่น
สำหรับแบบก่อสร้างบ้านที่เห็นกันโดยมากมักเป็นแบบพิมพ์เขียวหรือพิมพ์ขาวเย็บเล่มวางในแนวนอน มีขนาด A3 หรือ A2 ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านและมาตราส่วนของแบบที่แสดง โดยแบบก่อสร้าง 1 ชุดควรประกอบด้วย แบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้าง แบบวิศวกรรมงานระบบประปาและสุขาภิบาล และแบบวิศวกรรมงานระบบไฟฟ้าเป็นอย่างน้อย อาจมีแบบงานระบบอื่น ๆ งานตกแต่งภายใน งานตกแต่งทัศนียภาพภายนอกเพิ่มเติม แล้วแต่ความเหมาะสม
องค์ประกอบในแต่ละหน้าของแบบมักประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือพื้นที่แสดงแบบไม่ว่าจะเป็น ผังพื้น (แปลน) รูปด้าน รูปตัด แบบขยายต่างๆ ฯลฯ ส่วนที่สองเรียกว่า Heading ซึ่งมักจะอยู่ทางขวามือของหน้า มีการกั้นเส้นหรือทำกรอบสี่เหลี่ยมล้อมไว้ เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลโดยรวมของแบบ ได้แก่ ชื่อโครงการและสถานที่ตั้ง ชื่อเจ้าของโครงการ ชื่อทีมงานผู้ออกแบบ และข้อมูลอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยด้านล่างของ Heading จะเป็นข้อมูลของแบบที่แสดงได้แก่ ชื่อแบบที่แสดง เลขที่หน้า จำนวนรวมแผ่น เป็นต้น
– สัญลักษณ์ผนัง มักเป็นกรอบสามเหลี่ยมที่มีตัวเลขกำกับอยู่ภายใน ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงประเภทและรายละเอียดการติดตั้งของวัสดุผนังที่กำหนดไว้ในหน้าสัญลักษณ์ประกอบแบบ สัญลักษณ์ผนังจะปรากฎในแบบผังพื้น (แบบแปลน) แต่ละชั้น แบบรูปด้านและรูปตัด รวมถึงแบบขยายรายละเอียดต่าง ๆ
– สัญลักษณ์ฝ้าเพดาน มักเป็นกรอบวงรีที่มีตัวเลขกำกับอยู่ภายใน ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงประเภทและรายละเอียดการติดตั้งของวัสดุฝ้าเพดานที่กำหนดไว้ในหน้าสัญลักษณ์ประกอบแบบ สัญลักษณ์ฝ้าเพดานจะปรากฎในแบบผังฝังเพดาน (แปลนฝ้าเพดาน) แต่ละชั้น โดยมีตัวเลขบอกระดับความสูงฝ้าเพดานแต่ละห้องหรือพื้นที่ประกอบเสมอ ระดับความสูงฝ้าเพดานดังกล่าวจะเทียบจากระดับพื้นในห้องหรือพื้นที่นั้น ๆ
– สัญลักษณ์รวม มักเป็นกรอบตารางสี่เหลี่ยมที่มีการระบุชื่อห้อง ตัวเลขวัสดุพื้นและฝ้าเพดานพร้อมระดับการติดตั้ง และอาจมีตัวเลขวัสดุผนังในกรณีที่ใช้วัสดุผิวผนังเดียวกันทั้งห้อง สัญลักษณ์รวมจะปรากฎในแบบผังพื้น (แบบแปลน) และรูปตัด
สัญลักษณ์ประตู หน้าต่าง
สัญลักษณ์ประตูมักเป็นกรอบวงกลม ส่วนสัญลักษณ์หน้าต่างมักเป็นกรอบหกเหลี่ยม โดยภายในกรอบทั้งสองประเภทจะมีตัวเลขกำกับอยู่ภายใน บางกรณีอาจมีตัวอักษรกำกับเพิ่มเติมเพื่อบ่งบอกชนิดของวัสดุ สัญลักษณ์ประตู หน้าต่างจะปรากฎในแบบผังพื้น (แบบแปลน) แต่ละชั้น แบบรูปด้านและรูปตัด รวมถึงแบบขยายรายละเอียดต่าง ๆ
สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ ของประตูและหน้าต่างแต่ละชุด จะปรากฎในหน้าแบบขยายประตูหน้าต่างซึ่งมักแสดงข้อมูลเรื่องขนาด ลักษณะการเปิด / ปิด วัสดุวงกบ วัสดุบานกรอบ วัสดุลูกฟัก สีและลักษณะของพื้นผิว อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เช่น ลูกบิด มือจับ บานพับ ฯลฯ
สัญลักษณ์รูปตัด
มีลักษณะเป็นวงกลมที่มีหัวลูกศรทรงสามเหลี่ยมซ้อนอยู่ ภายในวงกลมจะบอกชื่อของรูปตัดและเลขที่หน้าของแบบแสดงรูปตัดนั้น ๆ ปลายแหลมของหัวลูกศรแสดงทิศทางการมอง เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฎในแบบผังพื้นเพื่อกำหนดแนวตัดผ่านตัวบ้านทั้งหลัง โดยใช้เส้นประเป็นตัวกำหนดแนวการตัดผ่าน
สัญลักษณ์รูปด้าน
มีลักษณะเป็นวงกลมที่มีหัวลูกศรทรงสามเหลี่ยมซ้อนอยู่ ภายในวงกลมจะบอกชื่อของรูปด้านและเลขที่หน้าของแบบแสดงรูปด้านนั้น ๆ ปลายแหลมของหัวลูกศรแสดงทิศทางการมอง เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฎในหน้าแบบผังพื้น โดยอยู่บริเวณด้านขวาล่างใต้แบบที่แสดง ใกล้กับชื่อแบบในแต่ละหน้า
สัญลักษณ์แบบขยายรายละเอียด
มีลักษณะเป็นเส้นชี้โยงจากส่วนหนึ่งของแบบที่แสดงในแต่ละหน้า เชื่อมกับวงกลมที่บอกชื่อของแบบขยายและเลขที่หน้าของแบบขยายนั้น ๆ เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฎในหน้าแบบผังพื้น (แบบแปลน) แต่ละชั้น แบบรูปด้านและรูปตัด รวมถึงแบบขยายส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่แบบรายละเอียดของส่วนนั้น ๆ ซึ่งไม่สามารถแสดงให้เห็นในหน้าแบบแปลน หรือแบบรูปตัดได้เพียงพอ เช่น แบบขยายห้องน้ำ แบบขยายบันได แบบขยายชายคา แบบขยายระแนงไม้ ฯลฯ โดยในหน้าแบบขยายรายละเอียดต่าง ๆ จะมีการแสดงวัสดุที่ใช้ ตำแหน่งและระยะการติดตั้ง ซึ่งเป็นภาพขยายขนาดขึ้นเพื่อให้มองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน
เมื่อเริ่มเข้าใจแนวทางการอ่านแบบสถาปัตยกรรมแล้ว เจ้าของบ้านก็สามารถนำไปปรับใช้กับการอ่านแบบประเภทอื่น ๆ ทั้งแบบวิศวกรรมโครงสร้าง หรือแบบงานระบบต่าง ๆ ได้ต่อไป เพียงแต่อาจมีข้อมูลทางเทคนิคบางอย่างที่ต้องปรึกษากับสถาปนิก วิศวกร หรือผู้ควบคุมงานเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจ
อ่านแบบก่อสร้างให้เป็นไม่เห็นยาก
ส่วนแรกของแบบก่อสร้าง มักประกอบด้วย
– สารบัญแบบ แสดงชื่อแบบที่แสดงในแบบก่อสร้างชุดนี้ทั้งหมดพร้อมเลขที่หน้าของแต่ละชื่อ มักอยู่หน้าแรกถัดจากหน้าปก โดยอาจจะรวมสารบัญแบบทุกประเภททั้งแบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้าง แบบวิศวกรรมงานระบบประปาและสุขาภิบาล และแบบวิศวกรรมงานระบบไฟฟ้าให้อยู่ในหน้าเดียวกัน หรือบางกรณีที่ผู้จัดทำแบบแยกสารบัญแบบให้อยู่ในหน้าแรกของแบบแต่ละประเภทแล้วแต่ความเหมาะสม
– รายการประกอบแบบ แสดงวัตถุประสงค์ของแบบ ข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงมาตรฐานงานก่อสร้างทั่วไป มักจะแยกตามแต่ละประเภทของแบบเพราะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
– สัญลักษณ์ประกอบแบบ แสดงรายการสัญลักษณ์ต่าง ๆ หรืออักษรย่อ และความหมายของสัญลักษณ์หรืออักษรย่อนั้น ๆ อาจมีการรวมทุกสัญลักษณ์ของแบบทุกประเภทในหน้าเดียวกัน หรือแยกชุดสัญลักษณ์ในแต่ละประเภทของแบบก็ได้ เช่นเดียวกับหน้าสารบัญแบบ
สัญลักษณ์ พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน
รูปแบบของสัญลักษณ์ พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ไม่ได้มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานตายตัว รูปแบบที่หลากหลายจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้จัดทำแบบแต่ละราย ในที่นี้จะกล่าวถึงรูปแบบที่นิยมใช้กันมาก และพบเห็นได้ทั่วไป
– สัญลักษณ์พื้น มักเป็นกรอบสี่เหลี่ยมที่มีตัวเลขกำกับอยู่ภายใน ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงประเภทของวัสดุปูพื้นที่กำหนดไว้ในหน้าสัญลักษณ์ประกอบแบบ สัญลักษณ์พื้นจะปรากฎในแบบผังพื้น (แบบแปลน) แต่ละชั้น โดยมีตัวเลขบอกระดับความสูงพื้นแต่ละห้องหรือพื้นที่ประกอบเสมอ ระดับความสูงพื้นดังกล่าวจะเทียบจากระดับอ้างอิง (±0.00) ที่กำหนดไว้ในหน้ารายการประกอบแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระดับกึ่งกลางถนนหน้าบ้านเป็นระดับอ้างอิง
ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
ภาพ :
– แบบบ้านอยู่สบายประหยัดพลังงาน (แบบบ้านเดี่ยว 2 ชั้น รูปแบบ B) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
– แบบบ้านพอเพียง Type L-2 กลุ่มสถาปนิกอาสา โดย Gateway Architects Co.,Ltd.
– แบบบ้านพอเพียง Type L-3 กลุ่มสถาปนิกอาสา โดย Architects 49 Limited
ขอบคุณที่มา: https://www.scgbuildingmaterials.com/