กฏหมายที่ควรรู้ในการขอใบอนุญาตโรงงาน “พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535”

สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

 นางสาวพงษ์พิลัย  วรรณราช[๑]

๑. หลักการและเหตุผล เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากกำหนดให้โรงงานทุกลักษณะต้องขออนุญาตเช่นเดียวกัน ทั้งที่ตามสภาพที่เป็นจริงโรงงานต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างกัน โรงงานบางประเภทไม่จำเป็นต้องควบคุมดูแลการตั้งโรงงานเพียงแต่ดูแลการดำเนินงานเท่านั้น คงมีแต่โรงงานบางประเภทที่อาจเกิดอันตรายจากการประกอบกิจการได้เท่านั้นที่ควรจะควบคุมการจัดตั้งอย่างเคร่งครัด จึงสมควรปรับปรุงระบบการควบคุมดูแลให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการและสมควรปรับปรุงวิธีการอนุญาตให้เหมาะสมรวมถึงปรับปรุงการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นไปโดยได้ผลยิ่งขึ้นด้วย

๒. สาระสำคัญ

พ.ร.บ. โรงงานนี้เป็นกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบกิจการโรงงาน โดยได้กำหนดขั้นตอนหลักเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ในขั้นตอนของการตั้งโรงงาน การดำเนินการของโรงงานรวมถึงการกำกับดูแลโรงงาน อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้มิให้ใช้บังคับแก่โรงงานของทางราชการที่ดำเนินการโดยทางราชการ แต่ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานตาม พ.ร.บ. นี้ไปเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

โรงงานตามความหมายของพ.ร.บ. โรงงานหมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าขึ้นไปหรือใช้คนงานตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปโดยจะใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม

รัฐมนตรีผู้รักษาการสามารถออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทโรงงานเป็นประเภทต่างๆ โดยแบ่งออกดังนี้

๑) โรงงานจำพวกที่ ๑ ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิดและขนาดที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการโรงงาน

๒) โรงงานจำพวกที่ ๒ ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิดและขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก่อน

๓) โรงงานจำพวกที่ ๓ ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิดและขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้

เพื่อให้การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงกำหนดให้อำนาจแก่รัฐมนตรีเพื่อออกกฎกระทรวงให้โรงงานปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับโรงงาน, เครื่องจักร, คนงาน, กรรมวิธีการผลิต, มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย รวมถึงการจัดให้มีเอกสารที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบด้วย (มาตรา ๘) และในการตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรอาจกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้

ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ ๑ และจำพวกที่ ๒ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่รัฐมนตรีประกาศ โดยโรงงานจำพวกที่ ๒ นี้เมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับแจ้งไว้เป็นหลักฐานและการเลิกประกอบกิจการ การโอน การให้เช่าโรงงานจำพวกที่ ๒ นี้ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบด้วย (มาตรา ๑๐,๑๑)

ส่วนผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ ๓ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงแล้วต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตด้วย และห้ามมิให้ผู้ใดก่อตั้งโรงงานจำพวกที่ ๓ นี้ก่อนได้รับใบอนุญาตซึ่งอาจมีการทดลองเดินเครื่องจักรก่อนการเริ่มประกอบกิจการโรงงานก็ได้

ในเรื่องขอใบอนุญาตได้มีการกำหนดเกี่ยวกับอายุของใบอนุญาต หลักเกณฑ์และวิธีการขอต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขออนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ ส่วนในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขยายโรงงานจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาตก่อน โดยการขยายโรงงานนี้อาจเป็นกรณีที่มีการเพิ่มจำนวนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร รวมถึงการเพิ่มหรือแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารโรงงาน ทั้งนี้ตามกรณีที่กฎหมายกำหนด

กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตโอนการประกอบกิจการโรงงาน ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อโรงงานหรือขายโรงงานให้ถือว่าผู้นั้นเลิกประกอบกิจการโรงงานและให้ผู้รับโอนการประกอบกิจการโรงงาน ผู้เช่าหรือผู้ให้หรือผู้เช่าซื้อโรงงานหรือผู้ซื้อโรงงานนั้นขอรับใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด (มาตรา ๒๑) ส่วนในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตายให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตเพื่อรับโอนใบอนุญาต ถ้ามิได้ยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้ถือว่า ใบอนุญาตสิ้นอายุ หากจะประกอบกิจการใหม่ต้องดำเนินการขอรับใบอนุญาตใหม่(มาตรา ๒๒)ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะย้ายโรงงานไปยังที่อื่นต้องดำเนินการเหมือนกับการตั้งโรงงานใหม่และหากผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเลิกประกอบกิจการโรงงานให้แจ้งเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาตภายในเวลาที่กำหนด

รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมได้ซึ่งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ ๒ หรือจำพวกที่๓ ภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือเขตนิคมอุตสาหกรรมให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหรือไม่ต้องได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี แต่การประกอบกิจการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด และเมื่อได้กำหนดให้ท้องที่ใดเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม รัฐมนตรีอาจกำหนดให้บริเวณโดยรอบเขตดังกล่าวภายในระยะที่กำหนดเป็นเขตห้ามประกอบกิจการโรงงานโดยเด็ดขาด หรือจะอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานได้เฉพาะบางประเภท ชนิดหรือขนาดก็ได้

นอกจากนี้เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ถ้าการประกอบกิจการโรงงานมีกรณีที่เกี่ยวข้องอันจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจกำหนดวิธีการในการดำเนินการเพื่อพิจารณาอนุญาตร่วมกันได้

ในเรื่องของการกำกับและดูแลโรงงาน ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้อำนาจแก่รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดเรื่องต่างๆ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศหรือของสาธารณชน เช่น กำหนดจำนวนและขนาดของโรงงานแต่ละประเภทที่จะให้ตั้งหรือจะให้ขยายในท้องที่หนึ่ง, กำหนดชนิดคุณภาพของวัตถุดิบหรือของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ถ้าโรงงานจำพวกที่ ๒ หรือโรงงานจำพวกที่ ๓ หยุดดำเนินงานติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งปีต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ นอกจากนี้เมื่อมีอุบัติเหตุในโรงงานทำให้มีบุคคลถึงแก่ความตาย เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บหรือกรณีที่เป็นเหตุให้โรงงานต้องหยุดดำเนินการเกินกว่าเจ็ดวัน ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงงานและเครื่องจักรได้ เพื่อให้การปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. นี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพจึงได้กำหนดให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ เช่น การเข้าตรวจสภาพโรงงานหรือเครื่องจักร, นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สงสัยเกี่ยวกับคุณภาพเพื่อตรวจสอบ, ค้น ยึดหรืออายัดผลิตภัณฑ์หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีการกระทำความผิด รวมทั้งมีหนังสือเรียกบุคคลให้มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารมาประกอบการพิจารณา นอกจากนี้เมื่อปรากฎว่าบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย หากพบว่าผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเสียหาย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำนั้นได้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจผูกมัดประทับตราเครื่องจักรเพื่อมิให้เครื่องจักรทำงานในระหว่างปฏิบัติตามคำสั่งได้ และหากเห็นว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือการประกอบกิจการโรงงานอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเดือดร้อนอย่างร้ายแรงให้ปลัดกระทรวงมีอำนาจส่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง และถ้ายังไม่ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ปลัดกระทรวงมีอำนาจสั่งปิดโรงงานได้ คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคำสั่งของปลัดกระทรวงสามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่การอุทธรณ์นี้ไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยในส่วนของการบังคับนั้นหากผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าจัดการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ โดยให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานเป็นผู้เก็บค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมกับเบี้ยปรับ ในส่วนของค่าธรรมเนียมรายปีให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ ๒ และโรงงานจำพวกที่ ๓ เป็นผู้เสีย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ใน พ.ร.บ. โรงงานนี้ ได้มีการกำหนดโทษในทางอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติต่างๆ ที่กำหนดไว้เพื่อให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ. นี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคตามความเหมาะสม โดยมีอำนาจเปรียบเทียบได้ถ้าเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรถูกฟ้องร้องหรือได้รับโทษจำคุกและเมื่อผู้ต้องหาได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกัน

 

๓. ผู้รักษาการตามกฎหมายและวันบังคับใช้ ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา ๖) และพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๔๔ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๕ โดยในมาตรา ๒ ได้กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

มิถุนายน ๒๕๔๗