การเลือกใช้ขนาดท่อ และขนาดถังบำบัดน้ำดี น้ำเสีย

“การเลือกใช้ขนาดและประเภทของท่อให้เหมาะสมกับการลำเลียงและรับแรงดันของน้ำดีน้ำเสีย การเลือกขนาดถังเก็บน้ำให้เพียงพอกับการใข้งานของสมาชิกในบ้าน และการเลือกประเภทถังบำบัดให้ตอบโจทย์เรื่องพื้นที่และการดูแลรักษา เพื่อให้เราสามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา”

เครดิต: พีระพงษ์ บุญรังษีhttps://www.scgbuildingmaterials.com

  ระบบสุขาภิบาลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ สามารถแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ ระบบที่นำน้ำดีเข้ามาใช้ในบ้าน และระบบที่นำน้ำเสียซึ่งเป็นน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วออกจากตัวบ้าน ทั้งสองส่วนอาศัยระบบท่อเป็นทางลำเลียงน้ำ และอาศัยถังเป็นที่พักน้ำ ท่อน้ำที่ใช้สำหรับลำเลียงน้ำดี นิยมใช้ท่อพีวีซีสีฟ้า คลาส 13.5 (รับแรงดันน้ำได้ 13.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร) เพื่อรับน้ำแรงดันสูงจากท่อประปาหลัก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ตั้งแต่  3/8 นิ้ว 1/2 นิ้ว 3/4 นิ้ว และ 1 นิ้ว ขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น ก๊อกน้ำทั่วไปใช้ท่อขนาด 1/2 นิ้ว, โถชักโครกแบบมีถังพักน้ำใช้ท่อขนาด 3/8 นิ้ว และ 1/2 นิ้ว, โถชักโครกแบบใช้คันโยกใช้ท่อขนาด 1 นิ้ว, และโถปัสสาวะชายใช้ท่อขนาด 1/2 นิ้ว และ 3/4 นิ้ว เป็นต้น

ภาพ: ท่อพีวีซี เอสซีจี ระบบประปาชั้นคุณภาพ 13.5 (คลาส 13.5) ซึ่งควรเลือกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางให้สัมพันธ์กับการใช้งานแต่ละประเภท

        สำหรับการเลือกขนาดถังเก็บน้ำนั้นจะพิจารณาจากจำนวนผู้อยู่อาศัยและระยะเวลาในการกักเก็บสำรองน้ำเอาไว้ใช้ จากข้อมูลของการประปาส่วนภูมิภาค ผู้ที่พักอาศัยในเขตเทศบาลจะใช้น้ำเฉลี่ย 120 ลิตรต่อคนต่อวัน และผู้ที่พักอาศัยแถบชานเมืองจะใช้น้ำเฉลี่ย 70 ลิตรต่อคนต่อวัน และจากข้อมูลของการประปานครหลวง ผู้ที่พักอาศัยในเขตนครหลวงจะใช้น้ำเฉลี่ย 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ดังนั้นปริมาณน้ำดีที่จะกักเก็บสำรองไว้ใช้เท่ากับ จำนวนผู้พักอาศัย X จำนวนวัน X 200 ลิตรต่อคนต่อวัน แต่ในทางปฏิบัติ จะนำน้ำดีในถังเก็บมาใช้งานได้จริงเพียงร้อยละ 70 ของปริมาตรถังเท่านั้น ดังนั้นจึงควรเลือกถังเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าปริมาณน้ำที่คำนวณได้อย่างต่ำร้อยละ 30 นอกจากนี้ควรพิจารณาขนาดสัดส่วนความกว้างความสูงของถัง วัสดุที่ใช้ผลิตถังร่วมด้วย

ภาพ: การเลือกขนาดและประเภทของถังเก็บน้ำ ควรพิจารณาให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่จะใช้ของสมาชิกในบ้าน รวมทั้งเลือกวัสดุและลักษณะการติดตั้งให้เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละบ้าน

       เมื่อน้ำดีถูกนำไปชำระล้างสิ่งสกปรกแล้ว จะกลายเป็นน้ำเสีย ซึ่งก่อนจะระบายน้ำเสียออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ทางกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการบำบัดน้ำเสียนั้นก่อน โดยน้ำเสียจะถูกลำเลียงผ่านท่อน้ำทิ้งไปยังถังบำบัด ซึ่งท่อที่เหมาะสมคือท่อพีวีซีสีเทา หรือท่อพีวีซีสีฟ้า คลาส 8.5 (สามารถรับแรงดันน้ำได้ 8.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ตั้งแต่ 1 ½ นิ้ว, 2 นิ้ว, และ 4 นิ้ว ขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น อ่างล้างหน้าและอ่างอาบน้ำใช้ท่อขนาด 1 ½ นิ้ว, โถปัสาวะชายใช้ท่อขนาด 1 ½ – 2 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีท่อน้ำเสีย (ท่อโสโครก) จากโถสุขภัณฑ์ (ชักโครก) จะใช้ท่อขนาด 3 – 6 นิ้ว เป็นต้น

สำหรับการเลือกขนาดถังบำบัดนั้นจะพิจารณาจากปริมาณน้ำเสีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำใช้ ดังนั้นถ้าผู้พักอาศัยในเขตนครหลวงใช้น้ำเฉลี่ยต่อคน วันละ 200 ลิตร จะเกิดน้ำเสียเฉลี่ยต่อคน วันละ 160 ลิตร ปริมาณน้ำเสียที่เกิดจากบ้านพักอาศัยต่อวันจึงเท่ากับ จำนวนผู้พักอาศัย X 0.8 X ปริมาณน้ำใช้ต่อคนต่อวัน น้ำเสียในส่วนเกรอะควรใช้เวลาบำบัดอย่างน้อย 1 วัน และน้ำเสียในส่วนกรองควรใช้เวลาบำบัดอย่างน้อยครึ่งวัน ดังนั้นน้ำเสียที่จะถูกบำบัดต่อวันจึงมีปริมาณ 1.5 เท่าของปริมาณน้ำเสียที่คำนวณได้

                                            ภาพ: ถังบำบัดน้ำเสียที่ควรเลือกให้เหมาะกับปริมาณน้ำเสียที่คำนวณได้

ถังบำบัดประกอบด้วยส่วนเกรอะและส่วนกรอง ส่วนกรองแบ่งเป็นส่วนกรองเติมอากาศ และส่วนกรองไร้อากาศ ตามประเภทจุลินทรีย์ ระบบบำบัดหนึ่งชุดอาจแยกส่วนเกรอะและส่วนกรองออกจากกันจึงมีสองถัง หรืออาจรวมส่วนเกรอะและส่วนกรองเอาไว้ในถังเดียวกัน  บ้านพักอาศัยโดยทั่วไปมักเลือกติดตั้งถังบำบัดแบบรวมส่วนเกรอะและส่วนกรองไว้ในถังเดียวกันเนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดพื้นที่ติดตั้ง และเลือกใช้ส่วนกรองไร้อากาศ เนื่องจากดูแลรักษาง่ายและประหยัดค่าไฟฟ้า แต่ระบบถังบำบัดแบบนี้มีข้อเสียคือในช่วงแรกจุลินทรีย์ในส่วนกรองไร้อากาศมีปริมาณน้อยย่อยกากของเสียไม่ทัน ทำให้เกิดก๊าซมีกลิ่นเหม็น สามารถแก้ไขด้วยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์เติมลงไปในถัง และควรดูดกากของเสียออกสองปีต่อครั้ง

นอกจากนี้ที่ลืมไม่ได้ คือท่อระบายอากาศ ซึ่งจะช่วยระบายก๊าซที่เกิดจากการหมักกากของเสียภายในถัง โดยมักเลือกใช้ท่อพีวีซีสีฟ้าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว ต่อท่อให้มีระดับสูงเหนือช่องเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายกลิ่นก๊าซให้พ้นจากตัวบ้าน ถ้าท่อระบายอากาศเกิดการอุดตันจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การกดชำระล้างของโถชักโครกติดขัดไม่สะดวก

หลังจากคำนวณปริมาณน้ำดี และน้ำเสียได้แล้ว ให้นำผลคำนวณไปเปรียบเทียบกับข้อมูลทางเทคนิคของผู้ผลิตเพื่อระบุรุ่นของถัง ต่อไป

ขอบคุณที่มาข้อมูล:https://www.scgbuildingmaterials.com