เสาเข็ม สำคัญอย่างไร?

เสาเข็มสำคัญอย่างไร?

เสาเข็มมีหน้าที่และความสำคัญอย่างไรต่อโครงสร้าง เสาเข็มมีหน้าที่และความสำคัญอย่างไรต่อโครงสร้างบ้านหรืออาคารโรงงานที่เราจะสร้าง!!!

 

เสาเข็ม” คือส่วนของโครงสร้างที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของโครงสร้าง และทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนักลงสู่ชั้นดินเพื่อให้โครงสร้างดำรงอยู่ได้ ไม่ทรุดลงไปเรื่อยๆ ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพของการทำหน้าที่ของเสาเข็ม ดังนี้

ขณะที่เราอยู่ภายในอาคารหรือโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นจะพบว่าโครงสร้างเหล่านั้นมีเสาอาคารเป็นส่วนที่รับโครงสร้างไว้ หากจินตนาการว่ามีเสาต้นใดต้นหนึ่งเกิดแตกร้าว บิดงอและทรุดลง โครงสร้างก็จะพังทลายลงมา เสาเข็มที่อยู่ใต้ดินก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับเสาของอาคาร เสาโกดังโรงงาน

ดังนั้น เสาเข็มจึงเป็นส่วนของโครงสร้างอาคารที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดของโครงสร้างที่อยู่เหนือขึ้นไป

การทำหน้าที่รับน้ำหนักของเสาเข็มมีลักษณะ 2 ประการคือ

1.อาศัยแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นระหว่างผิวของเสาเข็มและดิน ที่เสาเข็มฝังแทรกอยู่ ซึ่งแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นต้องมากพอที่จะทำให้เสาเข็มไม่ทรุดตัวหรือทรุดตัวน้อยที่สุด เพื่อที่โครงสร้างจะได้ไม่ทรุดตัว ค่าต้องได้รับการออกแบบทางวิศวกรรม

 

 

2.การรับน้ำหนักอีกลักษณะหนึ่ง คือ การที่เสาเข็มมีความยาวมากๆจนถึงชั้นดินแข็งหรือ ที่เรียกว่าดินดาน และเสาเข็มตั้งอยู่บนชั้นดิน ดังกล่าว แต่ถ้าเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่มาก อย่างอาคารสูง หรือโครงสร้างที่รับน้ำหนักสูงมาก เช่น โครงสร้างของสะพานขนาดใหญ่ ระบบรถไฟฟ้า เป็นต้น โครงสร้างลักษณะนี้จะมีเสาเข็มขนาดใหญ่และลึกมากจนถึงชั้นดินที่แข็งมากๆ หรือถึงชั้นหิน จึงจะสามารถถ่ายน้ำหนักที่เกิดขึ้น จากการใช้งานได้

 

วิศวกรโครงสร้างผู้ออกแบบจะต้องอาศัยข้อมูลคุณสมบัติทางกายภาพของชั้นดินบริเวณที่จะก่อสร้างเพื่อนำมาวิเคราะห์ ซึ่งข้อมูลของชั้นดิน

นั้นได้มาจากการเจาะสำรวจเก็บตัวอย่างที่ความลึกต่างๆ และนำไปวิเคราะห์คุณสมบัติการรับ น้ำหนักในห้องทดลอง

เปรียบเทียบ คล้ายกับทางการแพทย์ที่แพทย์สั่งเจาะเลือดและนำไปวิเคราะห์หาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจว่าเป็นโรคอะไรบ้าง อาคารทั่วไป ทั้งโครงสร้างคอนกรีตและโครงสร้างเหล็ก ขนาดเล็กและขนาดกลาง มักจะออกแบบโดยใช้คุณสมบัติการรับน้ำหนักของเสาเข็มจากแรงเสียดทานเป็นหลัก ให้เหมาะสมกับการใช้งานและต้นทุน ดังนั้น จะพบว่าความยาวเสาเข็มของอาคารเหล่านี้ จะมีความยาวประมาณ 12-18 เมตร เป็นต้น

แต่ถ้าโครงสร้างที่มีน้ำหนักมากขึ้นกว่า อาคารสองชั้น เช่น อาคารพาณิชย์ อาคารโรงงานขนาดใหญ่ และสูง การออกแบบใช้การรับน้ำหนักจากแรงเสียดทานของเสาเข็มย่อมไม่เพียงพอ วิศวกรจึงต้องออกแบบให้เสาเข็มรับ น้ำหนักด้วยแรงกด (Bearing) เพิ่มขึ้นจากการรับด้วยแรงเสียดทาน (Friction) เพียงอย่างเดียว

 

ในกรณีของดินกรุงเทพฯ มีลักษณะชั้นดินเป็นดินเหนียวที่เกิดจากการตกตะกอนทับถม และมีความลึกประมาณ 21 เมตรที่บริเวณตอนกลางของพื้นที่กรุงเทพฯ แต่จะมีความลึกของชั้นดินมากขึ้นเมื่อใกล้ทะเล เช่น บริเวณสมุทรปราการจะมีความลึกของชั้นดินกว่า 30 เมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวเมื่อจะก่อสร้างจะต้องใช้เสาเข็มที่ยาวกว่าบริเวณกรุงเทพฯ

ดังจะพบว่าบริเวณถนนบางนา-ตราดและถนนพระราม 2 มีการทรุดตัวของถนนอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากการสร้างบ้านหรืออาคารโรงงานที่ต้องมีเสาเข็มแล้ว ในบางพื้นที่การก่อสร้างอาคารขนาดไม่ใหญ่มากอาจจะสร้างโดยไม่ต้องมีเสาเข็มสำหรับการรับน้ำหนักของโครงสร้างได้ แต่ใช้การกระจายน้ำหนักของโครงสร้างลงบนผิวดินแทน ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีชั้นดินที่แข็งและแน่นพอที่จะกระจายน้ำหนักได้ เช่น พื้นที่บริเวณภาคตะวันออก- เฉียงเหนือและภาคเหนือ รวมถึงภาคใต้ เนื่องจากลักษณะชั้นดินบางพื้นที่เป็นหินแข็ง การถ่าย น้ำหนักก็จะใช้การสร้างฐานรากที่เรียกว่าฐานราก แผ่ โดยกระจายน้ำหนักด้วยผิวของฐานราก

วิธีการคิดคำนวณคือการหาค่าการรับน้ำหนักของดินว่ารับน้ำหนักได้เท่าไรต่อพื้นที่สัมผัส ตัวอย่างเช่น ดินรับน้ำหนักได้ 5 ตัน/ตร.ม. และมีแรงกดเกิดขึ้นจากโครงสร้างเท่ากับ 10 ตัน ดังนั้น จะต้องทำฐานรากให้มีพื้นที่ผิว 2 ตร.ม. เป็นต้น

สรุปได้ว่า เสาเข็มมีความสำคัญต่อโครงสร้างเป็นอย่างมากที่สุด ดังนั้นโครงสร้างที่ก่อสร้าง วิศวกรควรออกแบบอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เเกิดปัญหาขึ้นในระยะยาว เช่น เกิดการทรุดตัวของอาคาร หรือพื้นทรุดตัว ซึ่งทำให้โครงสร้างเสียหายได้ และเน้นเรื่องความปลอดภัยอย่างสูงสุด

ที่มา : นิตยสาร บ้านพร้อมอยู่ เดือนมิถุนายน 2559

วันที่แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 24 มิถุนายน 2559

https://www.home.co.th