ว่าด้วยเรื่อง”หล่อคอนกรีตกับไม้แบบ”เรื่องสำคัญของโครงสร้างบ้าน

เทคอนกรีตหล่อเสา หล่อคานแล้วคอนกรีตไม่เต็ม เห็นเหล็กบางส่วนควรทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับหลายๆ ท่านที่จ้างผู้รับเหมาให้มาสร้างบ้านใหม่ แล้วต้องมาปวดหัวกับช่างผู้รับเหมา เมื่อถอดไม้แบบออกมาแล้วเจอกับสภาพที่กล่าวมาแล้ว ปัญหานี้จะพบในงานก่อสร้างได้ค่อนข้างบ่อย ยิ่งถ้าเป็นในรายที่ใช้ไม้แบบที่เป็นไม้แบบเบญจพรรณมาตีแบบ ยิ่งหากมีการตัดต่อไม้แบบจะยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาเรื่องถอดแบบแล้วเกิดอาการเห็นเหล็กได้

ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจกับเรื่องของไม้แบบก่อนเป็นอันดับแรกว่า ไม้แบบคือ วัสดุที่นำมาประกอบยึดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นกล่อง เป็นร่อง เพื่อให้สามารถวางเหล็ก (เส้น) เสริมตามแบบลงไปก่อนที่จะเทคอนกรีต ซึ่งไม้แบบนี้สามารถขึ้นรูปได้จากวัสดุหลายชนิด ดั้งเดิมเก่าแก่สุดจะใช้ไม้กระดาน (เบญจพรรณ) ซึ่งมักมีความหนาที่ 1”- 11/2” หน้ากว้างตั้งแต่ 6,8,10” นำมาตีประกอบเข้ากันเป็นแผง ไม้แบบมักไม่มีการเข้ารางลิ้นระหว่างกัน จึงจะมีช่องว่างระหว่างแผ่นไม้ที่ประกบยึดติดกันด้วยไม้โครง (ไม้ขนาด11/2” x 3”) ซึ่งร่องเหล่านี้จะเป็นจุดที่น้ำปูนคอนกรีตสามารถไหลเล็ดรอดออกมาถ้าช่องว่างใหญ่เกินไป อีกจุดหนึ่งคือ ตรงที่ไม้แบบแนวตั้งมาบรรจบกับไม้แบบแนวนอน ซึ่งหากการตียึดจับด้วยโครงคร่าวไม่แข็งแรง รอยต่อ (ฉาก) จุดนี้ก็จะเป็นอีกจุดที่น้ำปูนไหลออกมาได้ (ทำให้เวลาถอดแบบแล้วเห็นเป็นอาการท้องคานเป็นโพรง) หรือตรงที่ไม้แบบหัวคานไปบรรจบกับเสา หรือแม้แต่ตรงปลายไม้แบบที่จะหล่อเสา หากไม่สัมผัสกับพื้นอย่างแนบสนิท เวลาถอดแบบออกมามักจะเห็นเป็นอาการโคนเสาคอนกรีตไม่เต็ม (ที่ติดกับพื้นมีอาการเป็นโพรงอากาศ เห็นหินหรือเหล็กเสริมภายใน)

การใช้เครื่องจี้แหย่จี้คอนกรีตให้ไหลเข้าเต็มแบบในเสาและคาน ช่วยให้งานคอนกรีตที่ถอดออกมาสวยงามไม่มีโพรงอากาศ
(ที่มาภาพ: www.bloggang.com)

ไม้แบบพลาสติก ไม้แบบเหล็ก จะมีการขึ้นรูปพร้อมโครงรัดไม้แบบมาเป็นอย่างดี
(ที่มาภาพ: www.siriwanplastics.com และ www.amnuey-design.com)

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านี้ก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแต่ต้องใส่ใจ (ย้ำเตือน ผู้รับเหมาให้หาทางป้องกันอุดรอยรั่วตามจุดที่ได้กล่าวมาแล้ว) ตีโครงคร่าวไม้ยึดไม้แบบเข้ากันอย่างแน่นหนา ตามร่องรอยต่อระหว่างไม้แบบให้หาเศษวัสดุเช่นพวกกระดาษ ถุงก๊อปแก๊ป ดินน้ำมัน หรือแม้แต่ใช้ดินเหนียว ยา (จากด้านนอก) ตามร่องหรือรูให้แน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำปูนจากคอนกรีตที่เทลงในแบบไหลเล็ดรอดออกมาตามร่องหรือช่องรอยต่อตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งถ้าทำตามนี้ก็จะป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าให้ความสนใจสัดส่วนความข้นเหลวของคอนกรีต อีกทั้งมีการจี้เขย่าคอนกรีตให้เข้าแบบอย่างทั่วถึง (ใช้เหล็กกระทุ้งหรือใช้เครื่องจี้คอนกรีตตามกรรมวิธีกำหนด) ก็จะยิ่งทำให้ได้งานคอนกรีตเสาคานที่หล่อออกมาเต็มตามแบบสวยงามแข็งแรง

ยังมีไม้แบบที่ทำจากวัสดุอื่นด้วย เช่น ไม้แบบที่เป็นเหล็ก ไม้แบบพลาสติก ซึ่งจะขึ้นรูปตามขนาดกำหนดจากโรงงานโดยตรง ซึ่งการใช้งานมีจุดเด่นคือ สามารถนำกลับมาใช้งานได้หลายรอบ แบบมีโครงเหล็กยึดแข็งแรงและมีการล๊อคที่แน่นหนาและสะดวกกว่า (แต่แบบมีราคาแพงและมักมีขนาดที่แน่นอน) สำหรับไม้แบบที่เป็นไม้ก็มีการใช้ไม้อัดเข้ามาร่วมด้วย เช่นไม้อัดธรรมดา ไม้อัดฟีโนลิค (เรียกทั่วไปว่าไม้อัดดำ) หรือแม้แต่ไม้อัดไม้ไผ่ ซึ่งมีขนาดเท่ากับแผ่นไม้อัด และมาเลื่อยเป็นชิ้นตีโครงประกบเพื่อนำไปใช้งานตามแบบ (ไม้อัดดำจะมีอายุใช้งานได้ยาวกว่าไม้อัดธรรมดาหรือไม้อัดไม้ไผ่)

กล่าวโดยสรุปแล้ว ไม้แบบสามารถนำไม้หรือวัสดุอื่นมาทำได้ขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาว่าจะมีการเตรียมการอย่างไร แต่ที่สำคัญที่สุดที่จะมีผลกับบ้านที่สร้าง กลับไปตกอยู่ที่การติดตั้งไม้แบบต้องแนบสนิทไม่มีร่องให้น้ำปูนไหลออกมา และต้องตีโครงยึดโยงไม่ให้ไม้แบบหลุดจากที่ จึงจะทำให้เราได้ชิ้นงานเสาคานพื้น เป็นโครงสร้างบ้านที่มีคุณภาพ

หล่อคอนกรีตกับไม้แบบ
เรื่องสำคัญของโครงสร้างบ้าน

เทคอนกรีตหล่อเสา หล่อคานแล้วคอนกรีตไม่เต็ม เห็นเหล็กบางส่วน ปัญหาสำหรับหลายๆ ท่านที่จ้างผู้รับเหมาให้มาสร้างบ้าน

อาการเสาคอนกรีตที่ปูนไม่เต็ม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากไม้แบบมีช่องเปิดตรงรอยต่อและน้ำปูนไหลออกมาได้
(ที่มาภาพ: topicstock.pantip.com และ www.thaibuildinginspector.com)

รอยต่อระหว่างแผ่นไม้แบบมักเป็นจุดที่น้ำปูนไหลออกมาจนภายในเกิดโพรงได้หากไม่มีการป้องกันที่ดีเพียงพอ
(ที่มาภาพ: www.bloggang.com)

ไม้อัดธรรมดา (มักเป็นไม้อัดยาง) ไม้อัดดำ และไม้อัดไม้ไผ่ มีการนำมาใช้ทำไม้แบบโดยเลื่อยเป็นชิ้นและตีโครงประกบให้แน่นหนา
(ที่มาภาพ: www.thaiwoodtrade.com  และ www.interwoodtimber.com)

ไม้แบบต้องยึดตรึงไม้แบบให้แน่นหนาทั้งที่เป็นคานและเสา เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีร่องรูรั่ว เช่น โคนไม้แบบเสา หรือริมเสา ข้างท้องคาน
(ที่มาภาพ: www.bloggang.com และ www.kijtanant.com)

แบบข้างคาน ท้องคาน
(ที่มาภาพ:  www.siriwanplastics.com)

ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
thaicontractors.com
baansansabai.blogspot.com

ขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.scgbuildingmaterials.com/