มาทำ ปุ๋ยหมัก ช่วยโลกของเรากันเถอะ

มาทำ ปุ๋ยหมัก คลายเครียดกันดีกว่า

คนส่วนใหญ่รู้จักกับ ปุ๋ยหมัก กันอยู่แล้ว ว่าเป็นอาหารที่ใส่ให้ต้นไม้เติบโตแข็งแรง ข้อดีของปุ๋ยหมัก คือ ต้นไม้จะได้สารอาหารหลากหลายชนิดไปพร้อมๆกับได้อินทรียวัตถุ ที่เกิดจากการย่อยสลายของเศษซากพืชและสัตว์มาช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดี แน่นอนว่าปุ๋ยหมักเป็นของดีมีประโยชน์ และมีที่มาจากขยะซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไร้ค่าแถมทำให้บ้านรกเลอะเทอะอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเศษใบไม้ ดินเก่ากรังๆจากกระถางใบเดิม หรือแม้กระทั่งเศษอาหารนานาชนิด ล้วนแต่เป็นของที่เราโยนทิ้งแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่เรานำขยะเหล่านั้นมาหมักรวมกัน รอเวลาให้ถูกย่อยสลายจนได้ที่ ขยะไร้ค่าก็จะกลับกลายเป็นของดีมีประโยชน์ทำให้ต้นไม้เติบใหญ่และแข็งแรง

…ไม่ต่างอะไรจากเรื่องราวรกสมองหรือขยะในใจเรา ถ้าเราโยนมันทิ้งไป รอเวลาให้ย่อยสลาย ขยะเหล่านั้นแม้ไม่ได้หายไปไหน แต่จะแปรสภาพเป็นอาหารเติมกำลังใจให้เข้มแข็งขึ้น ขยะจะกลายเป็นพลังใจให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้า อย่างมั่นคงกว่าเดิม

รวมเศษใบไม้ไว้ในสวน ก่อนนำมาทำปุ๋ยหมัก

เจนนี่ กรัต (Jenny Grut) นักจิตบำบัด ผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางใจจากการทารุณกรรมหรือผ่านเรื่องร้ายแรงในชีวิต อธิบายไว้ว่า การทำปุ๋ยหมักเป็นกิจกรรมบำบัดเชิงสัญลักษณ์ พร้อมบันทึกความเห็นที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวนบำบัดได้สะท้อนประสบการณ์ที่ได้รับ โดยผู้รับการบำบัดถ่ายทอดความรู้สึก เกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมักไว้โดยเฉพาะว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยทำให้จิตใจของพวกเขาสงบและเข้มแข็งขึ้นได้ ทุกครั้งที่โยนขยะไปรวมกันในกองปุ๋ยหมักก็เหมือนกับได้โยนขยะที่อัดแน่นอยู่ในใจออกไปพร้อมกัน และทุกครั้งที่ไปตักปุ๋ยหมักจากกองออกมาใส่ต้นไม้ก็จะได้เรียนรู้ว่าสิ่งรกๆสกปรกๆที่โยนทิ้ง แม้มันจะยังอยู่แต่ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ได้ ปุ๋ยหมักกลายเป็นทองคำสีดำที่มีคุณค่า เป็นอาหารให้ต้นไม้เติบโตแข็งแรงและทำให้สวนสวยงาม แล้วตัวเราเองก็ได้เป็นผู้ชื่นชมความสวยงามนั้นด้วยตาพร้อมกับใจที่เบาลง…เรื่องร้ายๆที่รกในใจแม้มันจะยังอยู่ แต่ถ้าเราไม่ปล่อยให้มันค้างคา จับมันทิ้งแล้วย่อยสลายเปลี่ยนเป็นพลังที่มีค่า เติมใส่ชีวิตให้เข้มแข็ง เพื่อก้าวต่อไปอย่างสวยงาม…

คีโฮล หรือแปลงปลูกผักและหมักปุ๋ย ที่มีช่องตรงกลางรูปคล้ายรูกุญแจสำหรับใส่เศษใบไม้และเศษพืชผักในสวน ซึ่งเมื่อรดน้ำในช่องนี้ จะทำให้ผักที่ปลูกไว้รอบๆได้รับความชื้นด้วย รวมถึงเมื่อปุ๋ยในช่องรูตรงกลางหมักได้ที่แล้ว จะส่งสารอาหารออกไปยังแปลงปลูกผักได้ทันที

ลองหามุมว่างสักมุมหนึ่งในสวน ถ้าสวนมีพื้นที่กว้างก็กันพื้นที่ไว้มากหน่อย แต่ถ้าพื้นที่มีจำกัดลองแบ่งมุมเล็กๆ หรือหาภาชะนะไว้สำหรับเก็บเศษใบไม้ใบหญ้ารวมทั้งเศษผักผลไม้มาหมักรวมกัน โดยแยกกิ่งไม้แข็งๆชิ้นใหญ่ออกจากกองไว้ต่างหาก

การทำปุ๋ยหมักยังเป็นกิจกรรมที่สอนเด็กๆให้ทำเองได้ โดยนำกระทะใบเก่ามาใช้ผสมเศษอาหาร เศษใบไม้ เปลือกผลไม้ เปลือกไข่และปุ๋ยคอก คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรดน้ำแค่พอชื้น ก่อนนำไปหมักรวมกันไว้ในภาชนะต่อไป

ผ่านไปสัก 2-3 เดือน  ลองคุ้ยดูใต้กอง ถ้าเศษขยะผุเปื่อยจนดูคล้ายดินแล้วก็นำมาใช้ใส่ต้นไม้ในสวนได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจก็รออีกสักพักไม่ต้องเร่งร้อนอะไร ในกระบวนการย่อยสลายจะมีความร้อนที่ปล่อยออกมา เราต้องรอให้เหล่าสัตว์ตัวเล็กๆและแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ย่อยสลายได้ทำหน้าที่ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน และการที่เราจะให้สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วพวกนี้ได้เข้ามาทำงานให้เรา กองปุ๋ยหมักในสวนต้องกองไว้ติดกับดินแล้วปล่อยให้พวกเขาเข้ามาทำงานได้เต็มที่ เราอาจจะช่วยเขาได้อีกแรงโดยการคอยรดน้ำให้กองปุ๋ยชื้นแต่ไม่ท่วมแฉะ ซึ่งจะเป็นการช่วยเรื่องกระบวนการย่อยสลายไปพร้อมๆกับช่วยลดความร้อนสะสมลงด้วย แต่หากการหมักปุ๋ยทำในภาชนะก็ควรผสมปุ๋ยคอกลงไป ก่อนรดน้ำด้วยเพราะปุ๋ยคอกมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยในการย่อยสลายอยู่

ปุ๋ยหมัก
เมื่อหมักได้ที่ ปุ๋ยจะร่วนไม่ติดมือและไม่มีกลิ่นเหม็น สามารถใส่ไว้บริเวณโคนต้นไม้ได้เลย

ยังมีกิจกรรมอื่นๆในสวน นอกเหนือจากการหมักปุ๋ย ที่ใช้ในการบำบัดจิตใจได้ ติดตามได้จากหนังสือ สวนบำบัด Garden Therapy  ที่ว่าด้วยการสร้างธรรมชาติในสวนเพื่อเพิ่มสุนทรียและบำบัดอาการป่วย เช่น เครียด ซึมเศร้า เบิร์นเอ๊าต์ รวมทั้งสวนสำหรับผู้สูงวัยและเด็ก… เพื่อให้สวนของคุณเป็นพื้นที่ในชีวิตประจำวันที่มีคุณภาพ

 

เรื่อง: ธนาศรี สัมพันธารักษ์ เพ็ชรยิ้ม
เรียบเรียง: ทิพาพรรณ
ภาพ: อภิรักษ์ สุขสัย

และขอขอบคุณที่มาข้อมูล:https://www.baanlaesuan.com/