ถึงเวลาหรือยังกับ”อุตสาหกรรมสีเขียวกับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน”ของไทย

โรงงานอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ย่อมมีของเสียที่ก่อให้เกิดมลภาวะทั้งจากวัตถุดิบและกระบวนการผลิตไว้เสมอ ขณะที่ความก้าวหน้าและเทคโนโลยีทางการผลิตได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วแต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชนกลับไม่ได้รับความเอาใจใส่มากเท่าที่ควร กรณีมาบตาพุดได้ให้บทเรียนราคาแพงต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ถึงวันนี้เราคงไม่อาจละเลยในการหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยแนวความคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การปลุกจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว นั่นคือการมุ่งสู่โรงงานสีเขียว

แนวคิดสีเขียว
มีหลายองค์กรและหน่วยงานที่ได้ให้ความหมายของแนวคิดสีเขียวที่ชัดเจนและน่าสนใจ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความหมายไว้ว่า อุตสาหกรรมสีเขียวคือ อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ หรือ (UNEP) ให้ความหมายของ เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy คือเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความเป็นอยู่ของมวลมนุษย์ที่ดีขึ้นและสร้างความเท่าเทียมกัน ในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายระบบนิเวศน์ จะเห็นว่าโรงงานสีเขียว มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสามส่วนคือ ตัวโรงงานเอง สภาพแวดล้อมและชุมชน ดังนั้นการดำเนินการของโรงงานจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนเสมอ

ทิศทางโลกในปัจจุบัน
ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากก๊าซเรือนกระจก จากการใช้พลังงานถ่านหินและฟอสซิล รวมทั้งการทำลายป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งสร้างสมดุลตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุด โดยในความร่วมมือระหว่างประเทศ ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) ได้ออก Green Industry เพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาให้มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและใช้แหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำเป็นการสร้างงานใหม่ในขณะที่ยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยีสะอาด รวมทั้งนำข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติ โดยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมรูปแบบการผลิตที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานมากที่สุดได้มีมาตรการชื่อ UCS Blueprint 2030 ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือ Energy efficiency สำหรับอาคารบ้านเรือน สถานประกอบการธุรกิจ และโรงงาน โดยตั้งเป้าที่จะยุติการใช้แหล่งพลังงานจากฟอสซิลลงในปี 2030 และใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน ส่วนกลุ่มสหภาพยุโรปหรือ EU ก็ได้ออกมาตรการที่เรียกว่า EMC Factory เพื่อลดการใช้ทรัพยากรลงในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน โดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรในการผลิตยานยนต์ รถไฟและเครื่องบิน โดยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิต และการออกแบบและบริหารจัดการโรงงานสีเขียว
สู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวนั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างแท้จริง ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้อง โดยทั่วไปแล้วโรงงานหรือบริษัทต่างๆ สามารถเข้าที่ระบบการบริหารงานแบบโรงงานสีเขียวได้สองทางคือ โดยการริเริ่มของธุรกิจเองด้วยการต่อยอดระบบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของบริษัทคู่ค้าในเครือข่ายซัพพลายเชน ส่วนอีกทางคือ องค์กรที่เกี่ยวข้องผลักดันโครงการหรือการสร้างมาตรฐานโดยหน่วยงานของรัฐ เช่นกระทรวงอุตสาหกรรมสำหรับประเทศไทย หลังการลงสัตยาบันรับรองปฏิญญาโจฮันเนสเบิร์กเมื่อปี 2545 และปฏิญญามะนิลาปี 2552 จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพื่อกำหนดแนวทางการมุ่งสู่การเป็นโรงงานสีเขียวไว้ 5 ระดับด้วยกัน คือ ความมุ่งมั่นสีเขียว ปฏิบัติการสีเขียว ระบบสีเขียว วัฒนธรรมสีเขียว และเครือข่ายสีเขียว ซึ่งครอบคลุม งานตั้งแต่การสร้างความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการจัดทำระบบและปฏิบัติจริง รวมถึงการได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และการขยายเครือข่ายแนวคิดและหลักการปฏิบัติของอุตสาหกรรมสีเขียวไปสู่บริษัทคู่ค้า และพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย โดยแนวทางการปฏิบัติได้แก่ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันมลพิษ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่ประสบความสำเร็จในประเทศกำลังพัฒนา จากรายงานของ UNEP คือการที่จีนส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนคือ พลังงานลมและโซลาร์พาวเวอร์ โดยรัฐบาลจีนได้ตรากฎหมายว่าด้วยพลังงานทดแทนและกำหนดแผนการพัฒนาจากปี 2005-2010 โดยใช้นโยบายด้านเงินกู้และภาษี จากนโยบายดังกล่าวทำให้จีนเป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์หรือ Solar PV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ 45 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตทั่วโลก เฉพาะในปี 2009 จีน สร้างรายได้จากการอุตสาหกรรมพลังงานถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐและได้สร้างงานกว่า 1.5 ล้านตำแหน่ง สำหรับบริษัทเอกชนของไทยที่มีความโดดเด่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แก่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นองค์กรต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 1 ของโลก (Sector Leader) ในสาขาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง (Building Materials) จาก Dow Jones Sustainability Indexes (DJSI)

ประโยชน์อุตสาหกรรมสีเขียว
การดำเนินโครงการโรงงานสีเขียวก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน ชุมชนหรือสังคม และระบบนิเวศ ประโยชน์อันดับแรกคือ การลดทรัพยากรและพลังงานในการประกอบการ ทำให้ลดต้นทุนและส่งผลดีต่อผลประกอบการโดยตรง และโรงงานที่มีการพัฒนาระบบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต จะทำให้เห็นช่องทางในการปรับปรุงระบบคุณภาพ ทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ผลพลอยได้อีกอย่างของผู้ประกอบการคือ สิทธิในการใช้ตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงการค้า ส่วนประโยชน์ที่เกิดกับลูกจ้างก็คือ การมีสถานประกอบการที่ถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัย และน่าทำงานมากขึ้น ส่วนชุมชนก็จะได้รับการสื่อสารระหว่างโรงงานและชุมชนเป็นไปในเชิงเปิดมากขึ้น ทำให้ระดับความเข้าใจและความไว้วางใจซึ่งกันและกันมีมากขึ้นด้วย ส่วนประโยชน์ที่สำคัญคือ เป็นการรักษาสมดุลและการอนุรักษ์ทรัพยากรและธรรมชาติให้อนุชนรุ่นหลัง นอกจากนี้การดำเนินกิจกรรมทางด้านการมุ่งสู่การเป็นโรงงานสีเขียวยังเป็นการสร้างงานและบริการใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในโรงงาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล อย่างเช่นการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทเอกชนจำนวนหลายแห่งในเขตจังหวัดภาคกลาง ภาคอีสานและโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่จังหวัดนคราชสีมา

ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมสีเขียวไทย
จากความมุ่งมั่นในการจัดทำโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหอกในการกำหนดยุทธศาสตร์ โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างง่ายๆ โดยบูรณาการงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนโรงงานได้รับการรับรองเป็นโรงงานสีเขียวถึง 3,681 ราย แบ่งเป็นระดับที่ 1 จำนวน 1,619 ราย ระดับที่ 2 จำนวน 870 ราย ระดับที่ 3 จำนวน 1,162 ราย และระดับที่ 4 จำนวน 30 ราย และยังมีสถานประกอบการอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการประเมิน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนให้ได้ถึง 70,000 ราย หรือร้อยละ 50 ของจำนวนโรงงานทั้งหมดในปี 2558 แม้ว่าในขณะนี้จำนวนโรงงานที่เข้าร่วมโครงการจะยังมีไม่มากนัก แต่เชื่อว่าจากกระแสความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสื่อต่างๆและในหมู่ผู้บริโภคจะกระตุ้นให้สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการมากขึ้นในอนาคต และเมื่อพิจารณายอดโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่าง ISO 14001 ที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่าเป้าหมายที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งไว้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยาก

ความท้าทายของอุตสาหกรรมสีเขียว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเพื่อเป้าหมายไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวก็ยังคงมีมากมาย ปัญหาหลัก ได้แก่การขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการเศรษฐกิจสีเขียวผู้ประกอบการมักมองว่าการประกอบธุรกิจสีเขียวเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทน ทั้งที่ในความเป็นจริง จากการศึกษาขององค์กรการค้าระดับโลกหรือสหประชาชาติต่างก็ยืนยันว่าการประกอบธุรกิจสีเขียวทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนมากและจะทำให้ธุรกิจมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ส่วนอุปสรรคในการขับเคลื่อนโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีทั้งในเชิงนโยบาย เช่น หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี หรือมาตรการด้านภาษี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยราชการ และปัญหาอุปสรรคในเชิงการดำเนินงาน เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความเข้าใจคาดเคลื่อนถึงวัตถุประสงค์หลักของโครงการ รวมทั้งมีความคาดหวังในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ จากการสมัครเข้าร่วมในโครงการมากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดจากการดำเนินการ สรุป การที่ประเทศไทยต้องอาศัยภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องสร้างแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเราให้มีความเจริญเติบโตแบบยั่งยืน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและคุณค่านิยมของชุมชนและสังคมแนวคิดโรงงานสีเขียวเป็นภารกิจมีความสำคัญมากกว่าการประชาสัมพันธ์สร้างภาพพจน์ที่ดีต่อสาธารณะหรือ CSR ผิวเผิน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมว่าการประกอบธุรกิจสีเขียวเท่านั้นที่จะเป็นการสร้างความเจริญเติบโตแบบยั่งยืนได้

Reference : Blue Update Edition 12

ขอบคุณข้อมูลและที่มา:https://dip-sme-academy.com/