เสาเข็มลึกเท่าไหร่ดี (ตอนที่ 1)

ในการต่อเติมบ้านแต่ละครั้ง ปัญหาที่คาใจเจ้าของบ้านหลายท่านคือ “เสาเข็ม” ต้องใช้กี่ต้น กี่กลุ่ม ลึกแค่ไหนถึงจะพอ คำแนะนำจากช่างหรือผู้รับเหมาจะเชื่อถือได้หรือไม่ และจะมั่นใจได้อย่างไร?

ก่อนตัดสินใจเลือกคำตอบที่เหมาะสมที่สุด เราควรทำความรู้จักและเข้าใจหน้าที่ของเสาเข็มกันเสียก่อน

เสาเข็มเป็นชิ้นส่วนล่างสุดของโครงสร้างบ้าน (โดยทั่วไปมักเรียกรวมกับฐานรากว่าเป็นฐานรากแบบมีเสาเข็ม) ซึ่งจะฝังตัวอยู่ในดินเพื่อทำหน้าที่รองรับน้ำหนักบ้านทั้งหลัง จึงนับว่ามีความสำคัญต่อโครงสร้างบ้านเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติแล้วหากบ้านวางอยู่บนดินเฉยๆ น้ำหนักของบ้านจะกดผิวดินให้ทรุดลงไปเรื่อยๆ หากมีเสาเข็มก็จะช่วยทำให้เกิดแรงต้านน้ำหนักของบ้านเพื่อชะลอการทรุดตัว โดยแรงต้านดังกล่าวนี้มาจากชั้นดิน 2 ส่วนคือ

1.แรงเสียดทานของดินชั้นบน ลองจินตนาการถึงการนำไม้ปักลงในดิน หากปักลึกลงไประดับหนึ่งจะเริ่มเกิดความฝืด กดลงได้ยากขึ้น นั่นเป็นเพราะไม้ถูกต้านด้วยแรงเสียดทานของดิน หลักการทำงานของเสาเข็ม ก็เช่นเดียวกันคือ จะพึ่งแรงเสียดทานของดินชั้นบนเป็นตัวพยุงรับน้ำหนักบ้านไม่ให้ทรุดหรือเอียง

2.แรงดันจากชั้นดินแข็ง กรณีเสาเข็มยาวลึกไปจนถึงชั้นดินแข็ง นั่นหมายถึงว่าเสาเข็มจะวางอยู่บนชั้นดินแข็ง ซึ่งเป็นตัวรับน้ำหนักของบ้านโดยตรง โอกาสทรุดตัวจะมีน้อยมากและช้ามาก

หลักการสร้างบ้านโดยทั่วไป ควรลงเสาเข็มของบ้านให้ยาวลึกถึงชั้นดินแข็งจะได้แรงต้านทั้งสองส่วนช่วยพยุงให้บ้านมีความมั่นคงแข็งแรง สำหรับบ้านที่มีเสาเข็มยาวไม่ถึงชั้นดินแข็ง ย่อมหมายถึงว่าน้ำหนักของบ้านทั้งหลังมีเพียงแรงเสียดทานของดินชั้นบนรองรับเท่านั้น การทรุดตัวจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นที่ดินที่เพิ่งถมมาไม่เกิน 1-2 ปี หรือที่ดิน ซึ่งเคยเป็นบ่อหรือบึงมาก่อน แรงเสียด ทานจะยิ่งน้อย อัตราการทรุดตัวก็จะยิ่งเร็วตาม

ส่วนเสาเข็มจะต้องลงลึกเท่าใดจึงจะถึงชั้นดินแข็งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ หากชั้นดินแข็งอยู่ตื้นก็ไม่ต้องลงเสาเข็มลึกมาก หรือหากเป็นกรณีที่ดินชั้นบนแข็งมากอยู่แล้วจนตอกหรือเจาะเสาเข็มไม่ลง (เช่น พื้นที่บางส่วนบริเวณภาคเหนือ หรือบนภูเขาบางแห่ง) ก็อาจใช้แค่ฐานรากแบบไม่ต้องมีเสาเข็มเลยก็ได้

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการสร้างบ้านควรจะลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็ง แต่เจ้าของบ้านหลายคนมี ข้อสงสัยว่า หากเป็นบ้านจัดสรรซึ่งมักจะต้องมีการต่อเติม โดยเฉพาะครัวและโรงจอดรถนั้น ส่วนต่อเติม ที่ว่านี้จะต้องลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งด้วยหรือไม่ โดยทฤษฎีการลงเสาเข็มให้ถึงชั้นดินแข็งย่อมดีกว่าแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติมักจะมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ เพราะการลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็งอาจต้องใช้พื้นที่เยอะและเครื่องมือขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงจนต้องหันมาทบทวนกันอีกทีว่าคุ้มค่าหรือไม่

ในความเป็นจริงเจ้าของบ้านมักเลือกใช้เสาเข็มสั้นในส่วนต่อเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นเสาเข็มขนาดความยาวไม่เกิน 3 เมตร ในขณะที่ชั้นดินแข็งในกรุงเทพฯ โดยทั่วไปอยู่ลึกประมาณ 17-23 เมตร ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงต้อง “เตรียมพร้อม” และ “ยอมรับ” การทรุดตัวอย่างรวดเร็วของส่วนต่อเติมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การใช้เสาเข็มกับส่วนต่อเติมไม่ว่า จะเป็นเสาเข็มสั้น หรือเสาเข็มยาวที่ลงลึกถึงชั้นดินแข็งนั้น มีเทคนิคและข้อควรคำนึงหลายประการ ซึ่งต้องพิจารณาตามแต่ละกรณี โดยจะขอนำมากล่าวถึงต่อไป

ขอบคุณที่มา:https://www.posttoday.com