มีประเด็กถกเถียงกันเรื่องประโยชน์และโทษของ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่าง Elon Musk ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX กับ Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook ฝ่าย Elon Musk เห็นว่า AI น่ะมันน่ากลัวและจะเป็นภัยต่อมนุษย์เอง ส่วน Mark Zuckerberg มองโลกในแง่ดีว่า ใช้ AI ดีซะอีกจะได้เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ ซึ่งทั้งสองไม่ได้เผชิญหน้ากันตรงๆแต่มีการพูดถึงกันแบบอ้อมๆ และแอบกัดจิกกันไปมาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค จนหลายสื่อในต่างประเทศหยิบไปเป็นประเด็นเล่าข่าวกันสนุกปาก
ใครจะเป็นฝ่ายคิดถูกหรือคิดผิด คำตอบคงหาไม่ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้แน่นอน ต้องดูกันไปยาวๆ แต่เมื่อพูดถึง AI แล้วล่ะก็ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้าไปช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์แล้วแบบจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งวันนี้ได้คัดกรองอุตสาหกรรมใกล้ตัวที่มีการใช้ AI เป็นผู้ช่วยมาบอกเล่ากัน เพื่อให้เห็นว่าทุกวันนี้ AI ไม่ใช่เรื่องที่เราจะหนีพ้นครับ !
1. การแพทย์
เป็นที่ทราบดีว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรทางแพทย์ แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเป็นตัวเลือกที่อุดช่องว่างที่เกิดขึ้น ดังนั้น AI หรือปัญญาประดิษฐ์จึงถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นและยังช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำ IBM Watson เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์การรักษาโรคมะเร็ง หรือที่โรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน มีการใช้เทคโนโลยี AI จากบริษัท Infervison เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและเอกซเรย์โรงมะเร็งปอด
2. การเกษตร
มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกจะมีถึง 9.8 พันล้านคน ประชากรจากชนบทจะเริ่มขยับขยายเข้าสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการเพิ่มและยกระดับประสิทธิภาพของผลผลิตด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นทางแก้ปัญหาที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเวลานี้
ระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า Smart Farm เริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรบ้างแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาการใช้แรงงานมนุษย์และเพิ่มผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ฟาร์มปลูกแตงกวาในญี่ปุ่นของ Makoto Koike ได้นำเทคโนโลยี Machine learning และ Deep Learning ภายใต้ระบบ TensorFlow ของ Google พร้อมด้วย Raspberry Pi 3 มาใช้ในการคัดแยกแตงกวา ซึ่งให้ความถูกต้องถึง 95% มากกว่าการใช้คนที่ทำได้เพียง 70% เท่านั้น
ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มมีเกษตรกรบางรายเริ่มมีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาช่วยด้านการเกษตรบ้างแล้ว แต่ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
3. ประกันภัย
หลายคนอาจสงสัยว่า AI จะเข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมประกันภัยได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น Fukoku Mutual บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่น นำ IBM Watson ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์ สามารถพิจารณาเงินประกันที่ต้องจ่ายกับผู้ถือกรมธรรม์ในแต่ล่ะกรณีได้ โดยดูจากประวัติทางการแพทย์เป็นหลัก และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 30% และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนของพนักงานได้ถึง 140 ล้านเยนต่อปี ผลที่เกิดขึ้นเมื่อนำ AI มาใช้ ปรากฏว่าบริษัทตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานในแผนกที่เกี่ยวข้อง 34 คน
4. การเงิน การธนาคาร
เทคโนโลยี AI กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจประเภทการเงิน การธนาคารหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น และมีแนวโน้มสูงที่ AI จะกลายเป็นผู้ช่วยให้กับลูกค้า ซึ่งมีการประเมินว่า AI จะสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการทำธุรกรรมการเงินให้กับลูกค้า, เป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อป้องกันการทุจริต, ทำหน้าที่วิเคราะห์ศักยภาพด้านการเงินเพื่อวางโครงสร้างธุรกิจและกลยุทธ์ให้กับธุรกิจการเงิน การธนาคาร เป็นต้น
ตัวอย่าง City Union Bank ในอินเดีย มีการใช้หุ่นยนต์ที่ชื่อว่า Lakshmi เป็นผู้ช่วยลูกค้าในการบอกยอดเงินคงเหลือและอัตราดอกเบี้ย หรือ Bank of Tokyo Mitsubishi ของญี่ปุ่น ใช้หุ่นยนต์ที่เรียกว่า Nao เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าและพฤติกรรมการโต้ตอบของลูกค้า ขณะที่ธนาคาร HSBC ผู้ช่วยฉลาดๆ ที่เรียกว่า Olivia ที่ให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ทำหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยไปจนถึงปัญาอื่นๆ จากลูกค้า และ Capital One ธนาคาในสหรัฐอเมริกา ให้ลูกค้าสามารถพูดคุยโต้ตอบกับ Amazon Alexa ในการตรวจสอบบัญชี ชำระค่าบัตรเครดิต ได้ เป็นต้น
5. ระบบการขนส่งสาธารณะ
หลายคนที่ติดตามข่าวไอทีกับ aripfan จะพบข่าวคราวของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการพัฒนารถยนต์ในลักษณะดังกล่าวจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็ดี หรือบริษัทด้านเทคโนโลยีก็ดี ต่างมีเทคโนโลยี AI เป็นผู้ช่วยสำคัญในการติดตาม วิเคราะห์เส้นทางและหลบหลีกสิ่งกีดขวางเพื่อช่วยในการขับขี่ให้กับมนุษย์ แต่นอกเหนือจากการพัฒนาภายในรถยนต์ส่วนบุคคลแล้ว รถขนส่งสาธารณะยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น Uber ที่จัดตั้ง AI Labs ขึ้นมา เพื่อสร้างอัลกอริทึมและเทคโนโลยีสำหรับใช้ในบริการของ Uber สามารถวิเคราะห์เส้นทางตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ใดมีความต้องการใช้รถบ้าง และ Uber จะเป็นบริการที่เข้าไปช่วยเหลือตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
หรือจะเป็น Waymo หนึ่งในบริษัทลูกของ Alphabet ที่มีการทดสอบให้บริการรถยนต์ไร้คนขับสาธารณะครั้งแรกแล้วในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เริ่มด้วยการใช้รถยนต์มินิแวนจาก Chrysler จำนวน 500 คัน เป็นบริการสำหรับครอบครัว ซึ่ง Waymo มีการเปิดรับสมัครผู้ขับขี่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นการทดลองให้ผู้ขับขี่ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับขี่ของรถยนต์ขับเองอัตโนมัติ
6. งานก่อสร้าง
อุตสาหกรรมงานก่อสร้างเริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเหลือในงานก่อสร้างบ้างแล้ว เช่น บริษัท Komatsu ของญี่ปุ่น นำ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับมนุษย์ ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังก่อสร้าง ได้แก่ การสำรวจข้อมูลและโครงสร้างต่างๆ ของงานก่อนส้ราง เพื่อการทำงานของเครื่องจักรโดยอัตโนมัติ หรือจะเป็นการวิเคราะห์และวางแผนการก่อสร้าง เพื่อให้คนงานก่อสร้างได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและสามารถมทำให้งานก่อสร้างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น
7. อุตสาหกรรมการผลิต
เชื่อว่ามีหลายคนที่รู้มานานแล้วว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งมีการใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์เข้ามาดำเนินการผลิตแทนแรงงานมนุษย์ อุตสาหกรรมหนึ่งที่หลายคนคงเห็นภาพชัดที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งต่อไปหุ่นยนต์ในโรงงานเหล่านี้จะทำงานได้อย่างละเอียดมากขึ้น แม้กระทั่งงานที่มีความซับซ้อน จนเรียกว่ากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบอาจไม่พึ่งพาแรงงานมนุษย์อีกต่อไป