ขึ้นชื่อว่า “สนิม” แล้ว ผู้ใช้งานโครงสร้างเหล็กหลายท่านมักจะรู้สึกไม่ดี และต้องการที่จะกำจัดออกให้หมดจากทุกชิ้นส่วนของอาคารโครงสร้างเหล็ก แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิศวกรผู้ออกแบบ, ผู้รับเหมางานโครงสร้างเหล็ก(Fabricator) สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “สนิม” นี้ได้อย่างมากอีกด้วย
“การเชื่อมเหล็ก” และ “สลักเกลียว” คือสิ่งที่วิศวกรผู้ออกแบบและผู้รับเหมางานโครงสร้างเหล็ก ใช้ประกอบยึดรั้งโครงสร้างอาคารไว้ด้วยกัน เพื่อใช้ถ่ายแรงจากชิ้นส่วนหนึ่ง สู่อีกชิ้นส่วนหนึ่ง ซึ่งนอกจาก 2 อย่างนี้แล้ว ยังมีอีกตัวช่วยหนึ่งจาก “ธรรมชาติ” ที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของการยึดรั้งโครงสร้างไม่ให้เคลื่อนตัว หรืออาจจะสามารถลดขนาด หรือจำนวนสลักเกลียวลงได้นั่นคือ “แรงเสียดทาน” (Friction) ที่เกิดจาก “สนิม” ที่ผู้รับเหมางานโครงสร้างเหล็ก ตั้งใจเว้นการทำสีกันสนิมในตำแหน่งของการต่อชิ้นส่วน และทำการราดน้ำผสมเกลือ เพื่อเร่งปฏิริยาของการเกิดสนิม ในการเพิ่มสัมประสิทธิ์ความเสียดทานของผิวเหล็ก ให้ยึดเหนี่ยวโครงสร้างไว้ด้วยกันดียิ่งขึ้นนั่นเอง โดยเรียกรอยต่อประเภทนี้ว่า “Slip-critical Connection”
รูปแสดงการต่อเหล็กอาคารwarehouse prefab แทนการเชื่อม
การออกแบบอาคารโครงสร้างเหล็ก จะประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญเท่าๆกัน ได้แก่ “การออกแบบองค์อาคาร” (Member Design) และอีกอย่างคือ “การออกแบบจุดต่อ” (Connection Design) ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ของการก่อสร้างด้วยระบบโครงสร้างเหล็ก ที่ผู้ออกแบบและผู้รับเหมาต้องร่วมกันกำหนด ประเภท(การเชื่อม, สลักเกลียว) , ตำแหน่ง และพฤติกรรมการถ่ายแรง เป็นต้น
แหล่งที่มา : http://www.hbeamconnect.com