ประโยชน์ของ”ดินสอพอง”ไม่ได้มีแค่เรื่องความงาม

  ดินสอพอง หรือ มาร์ล (marl) เป็นผงแร่ที่ได้จากธรรมชาติ มีลักษณะเป็นก้อนหรือผงสีขาวขุ่นและขาวอมเหลือง มีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (CO3) และ แร่ดินเหนียว นิยมนำมาใช้ในด้านความสวยความงาม รวมถึงนำมาผสมน้ำปะแป้ง เพื่อเพิ่มความหอมและเป็นศิริมงคลในเทศกาลวันสงกรานต์

นอกจากนี้ ดินสอพอง ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ตามมาทำความรู้จักกับดินสอพอง ภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจกันครับ

 

1.ใช้ในด้านความสวย-ความงาม

 

 

ดินสอพองมีฤทธิ์เป็นด่างสามารถใช้ฆ่าเชื้อและลดการอักเสบของผิวได้ จึงนิยมนำมาใช้รักษาสิว แก้ผดผื่น และ อาการคัน รวมถึงนำมาใช้ขัดผิว เพื่อช่วยให้ผิวเรากระจ่างใส เนียนนุ่ม อีกทั้งดินสอพองยังมีฤทธิ์เย็นไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะหนะแล้ว ยังช่วยลดความร้อนหรืออุณหภูมิของผิวได้จึงนิยมนำมาใช้ผสมน้ำปะพรมกันในวันสงกรานต์

Tips ควรเลือกดินสอพองชนิดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วมาใช้ เพราะ ดินสอพองเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากดินธรรมชาติจึงอาจมีเชื้อและจุลินทรีย์ปะปนอยู่

 

2.ใช้เป็นสารปรับปรุงดิน

ความเป็นกรด-ด่างเป็นตัวควบคุมการละลายของธาตุอาหารในดิน เพื่อให้พืชสามารถดูดซึมและนำไปใช้งานได้ ซึ่งถ้าหากดินมีความเป็นกรด-ด่างไม่เหมาะสม ธาตุอาหารในดินอาจละลายออกมาได้น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช หรือ อาจละลายออกมามากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชได้ และ เนื่องจากดินสอพองมีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต (CO3) เป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้มีฤทธิ์เป็นด่าง จึงสามารถนำมาใช้ปรับสภาพดินที่เป็นกรดหรือใช้แก้ดินเปรี้ยว รวมถึงฆ่าเชื้อโรคในดินได้ โดยการนำดินสอพองไปโรย ในอัตราส่วน 1 ถัง – 1 ถังครึ่ง ต่อดินเปรี้ยว 1 ไร่ เพื่อปรับค่าความเป็นกรดของดินให้เป็นกลาง (PH = 7) ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้ในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือ สวนผลไม้

3.ใช้สำหรับการปรับความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำ

ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ มีผลต่อการนำน้ำจากแหล่งน้ำไปใช้ประโยชน์ อย่าง การอุปโภค บริโภค การนำไปรดน้ำต้นไม้ รวมไปถึงมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำอีกด้วย โดยค่า pH ที่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำ จะอยู่ระหว่าง 6.5 – 9.0 หรือ เป็นด่างเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากน้ำมีสภาพเป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไปก็อาจทำให้สัตว์น้ำเกิดความเครียดหรือตายได้ ทำให้ดินสอพองถูกนำมาใช้ เพื่อปรับสภาพน้ำให้มีความเป็นด่างมากขึ้น โดยจะนิยมใช้เติมปรับสภาพน้ำในแหล่งน้ำขังตามบ้าน ฟาร์ม แปลงเกษตร และ กระบวนการบำบัดน้ำเสีย รวมไปถึงใช้ฆ่าเชื้อในแหล่งน้ำ (wastewater treatment) ได้อีกด้วย

4.ใช้ในงานไม้ งานก่อสร้าง

ดินสอพองมีลักษณะคล้ายดินเหนียวชนิดหนึ่ง จึงนิยมนำมาใช้ในงานไม้และงานก่อสร้าง อย่าง ใช้ขัดผิวไม้ ขัดเฟอร์นิเจอร์ ใช้เป็นวัสดุเชื่อมหรือโบกรองพื้นก่อนการทาสี รวมไปถึงใช้เพื่อปรับพื้นผิวปิดร่องหรือรูไม้ และ การอุดรอยตำหนิบนผนังปูน โดยจะนำดินสอพองมาผสมน้ำ และ ฝุ่นสีหรือแชลแลก นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำไปปาดลงบนพื้นผิวที่ต้องการ รอให้แห้ง ขัดให้เรียบด้วยกระดาษทราย จากนั้นปาดซ้ำอีกรอบ รอให้แห้ง แล้วจึงขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ต่ำลงมา เพื่อให้พื้นผิวมีความเรียบเนียนและสวยงามก่อนจะถึงขั้นตอนการลงสีต่อไป

5.ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตปูน

ดินสอพองถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อปูนในการผลิตปูนซีเมนต์โดยวิธีเปียก (Wet Process) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้สำหรับการผลิตที่วัตถุมีความชื้นสูงตามธรรมชาติ โดยจะเริ่มจากการนำวัตถุดิบที่ผ่านการย่อยให้มีขนาดเล็กมาผสมกันตามสัดส่วน แล้วตีรวมกับน้ำให้ละเอียดจนเป็นน้ำดิน จากนั้นจึงส่งเข้าสู่เตาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1000-1350 °c วัตถุดิบทั้งหมดจะทำปฏิกิริยาต่อกันจนได้เป็นปูนเม็ดออกมา เพื่อนำไปผสมกับยิปซัมและบดให้ละเอียด กลายเป็นปูนซีเมนต์ผง แต่วิธีการผลิตแบบนี้ต้องใช้พลังงานมากและมีต้นทุนการผลิตสูง ปัจจุบันจึงไม่นิยม

6.ใช้ขัดทำความสะอาดผลิตภัณฑ์โลหะ

ไม่ว่าจะเป็นโลหะประเภทเงิน ทองเหลือง ทองแดง เหล็ก นาค อะลูมิเนียม สเตนเลส หรือ โครเมียม ที่ผ่านการใช้งานจนทรุดโทรม มีคราบสกปรก ขึ้นสนิม หรือ เก่าเก็บจนหม่นหมองไม่สวยเงางามเหมือนแต่ก่อน ลองเช็ดคราบดินหรือสิ่งสกปรกออก แล้วนำผงดินสอพองมาขัดให้ทั่ว จากนั้นจึงนำไปล้างทำความสะอาดตามปกติ เพียงเท่านี้ก็จะได้เครื่องใช้โลหะที่กลับมาเงางามเหมือนก่อนแล้วครับ

7.ใช้กำจัดปลวก

แค่ดินสอพองอย่างเดียวคงไม่พอ ลองนำดินสอพองมาผสมกับน้ำใบขี้เหล็กและขี้เลื่อย ปั้นให้เป็นก้อน แล้วนำไปผึ่งแดดไว้ให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาทุบให้เป็นผงแล้วนำไปโรยบริเวณรังปลวกหรือตามจุดต่างๆ ที่ต้องการ โดยเศษดินสอพองนี้จะมีลักษณะคล้ายกับเศษใบไม้ ทำให้ปลวกเข้าใจว่าเป็นเศษไม้ผุจึงเก็บนำกลับไปทำรัง ซึ่งในใบขี้เหล็กจะมีสารกลุ่มโครโมนและสารกลุ่ม anthraquinones ที่ส่งผลต่อระบบปราสาทและระบบการทำงานในร่างกายของปลวก รวมถึงแมลงเดินดินขนาดเล็กชนิดอื่น อย่าง มด หรือ แมลงศัตรูพืช เมื่อเวลาผ่านไปปลวกและแมลงจึงหนีออกไปและทิ้งรังเดิมไว้

ขอบคุณความรู้ดีๆ จาก : https://www.baanlaesuan.com