ข้อแนะนำการออกแบบคลังเก็บสินค้าอันตราย
ในการออกแบบและก่อสร้างคลังสินค้า ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเชื่อมต่อกับการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่นๆ การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนถึงการเลือกวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ แต่สำหรับการออกแบบและก่อสร้างคลังสินค้าอันตรายนั้น ยังมีกฎข้อบังคับอีกมากมายที่ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากสินค้าอันตรายส่วนใหญ่ เป็นวัตถุไวไฟ เพราะฉะนั้นในการออกแบบและก่อสร้างคลังสินค้าอันตราย จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโครงสร้าง การเลือกวัสดุ รวมไปถึงการติดตั้งระบบความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้คน ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
Fireproof Material
หัวใจสำคัญในการออกแบบและก่อสร้างคลังสินค้าอันตรายก็คือ การเลือกใช้วัสดุกันไฟมาเป็นส่วนประกอบหลัก ตั้งแต่ผนัง พื้น รวมไปถึงหลังคา เพราะวัสดุกันไฟมีคุณสมบัติในการป้องกันการลุกลามจากภายในสู่ภายนอก โดยวัสดุ กันไฟที่นำมาใช้ต้องมีความทนทาน และมีระยะทนไฟ 30 นาที 60 นาที และ 120 นาที ตามมาตรฐานสากลในการออกแบบและก่อสร้าง ‘ผนังอาคาร’ ผู้ให้บริการฯ จำเป็นต้องเลือกวัสดุกันไฟในการก่อสร้างผนังอาคาร โดยมีความสูงเหนือหลังคา 0.30-1.00 เมตร และยื่นออกจากผนังด้านข้าง 0.30-0.50 เมตร ซึ่งเป็นไปตามรายละเอียดในข้อกำหนดพิเศษ หรือวิธีการอื่นๆ ที่สามารถป้องกันการลุกลามของไฟได้ สำหรับ ‘พื้น’ ต้องมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักสารเคมีและวัตถุอันตรายทั้งหมด โดยวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างพื้นต้องทนต่อน้ำและสารเคมี ในกรณีเก็บของ เหลวไวไฟ ก๊าซไวไฟและวัตถุระเบิด พื้นต้องนำไฟฟ้าได้ ไม่เกิดไฟฟ้าสถิต รวมถึงต้องไม่ดูดซับของเหลว เรียบไม่ลื่น ไม่มีรอยแตกร้าว และทำ ความสะอาดง่าย
ในส่วนของ ‘หลังคา’ นั้น นอกจากกันฝนได้ แล้ว ต้องออกแบบให้มีการระบายความร้อนและควันขณะเกิดเพลิงไหม้ด้วย โดยโครงสร้างหลักที่รองรับหลังคาต้องได้รับการปกป้องด้วยวัสดุไม่ติดไฟ วัสดุที่ใช้มุงหลังคา ต้องทนไฟได้ 30 นาที และหลังคาต้องไม่มีฝ้าเพดาน กรณีที่จำเป็นต้องมีฝ้า เช่นในห้องควบคุมความเย็น ฝ้าต้องผลิตจากวัสดุไม่ติดไฟ และต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควัน และความร้อนไว้ใต้หลังคา หากมีความจำเป็นต้องทำการจัดเก็บโดยแบ่งเป็นห้องตามแนวตั้ง พื้นและโครงสร้าง ต้องสามารถทนไฟได้นานอย่างน้อย 90 นาที
ทั้งนี้ คลังสินค้าอันตรายต้องมีความกว้างอย่างน้อย 30 เมตร และมีพื้นที่ตั้งแต่ 1,200 ตารางเมตรขึ้นไป โดยต้องมีผนังกันไฟกั้นตัด ตอนที่มีระยะห่างจากกันไม่เกิน 40 เมตรหรือตามความเห็นชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในกรณีที่คลังสินค้าอันตรายมีระยะห่างจากอาคารอื่นน้อยกว่า 10 เมตร ผนังอาคารต้องสร้างด้วยกำแพงกันไฟที่มีระยะเวลาทนไฟอย่างน้อย 90 นาที ยกเว้นคลังสินค้าที่ใช้เก็บสารไม่ติดไฟเท่านั้น
Top Priorities
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการออกแบบคลังสินค้าอันตราย นั่นคือ การติดตั้งระบบความปลอดภัย โดยการติดตั้งระบบความปลอดภัยในคลังสินค้าอันตราย มีความซับซ้อนกว่าคลังสินค้าทั่วไป ดังนั้น ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ควรปฏิบัติตามระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด
โดยอันดับแรก คลังสินค้าอันตรายต้องมี ‘ระบบระบายอากาศ’ ที่ดี มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ เช่น วิธีระบายอากาศผ่านช่อง ระบายอากาศระหว่างหลังคาสองชั้น หรือการระบายอากาศโดยวิธีกล ซึ่งต้องได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการติดตั้ง ‘ระบบไฟฟ้า แสงสว่างฉุกเฉิน และอุปกรณ์ไฟฟ้า’ ต้องมีการออกแบบและติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานของคณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ โดยการติดตั้งระบบไฟฟ้าและแสงสว่างฉุกเฉินภายในคลังสินค้า จะช่วยป้องกันการเกิดไฟไหม้ หรือระเบิด นอกจากนี้ อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องมีการต่อสายดิน และมีระบบป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยบริเวณพื้นที่อันตรายที่มีการจัดเก็บและขนถ่ายสารไวไฟ ต้องมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดป้องกันการระเบิด ให้เหมาะสมกับสารที่จัดเก็บนั้นๆ
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการฯ ยังต้องมีการติดตั้ง ‘ระบบสายล่อฟ้า’ ตามมาตรฐานการป้องกันฟ้าผ่า สำหรับสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการวิชาการ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ โดยกำหนดว่าสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่อยู่ในระยะ 30 เมตร ของสิ่งปลูกสร้างที่เก็บวัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ ต้องติดตั้งระบบสายล่อฟ้าที่ได้รับการออกแบบและติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ
ในการติดตั้ง ‘ระบบเตือนภัย’ นั้น แบ่งเป็นสองประเภท คือ ‘สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้’ เป็นสัญญาณที่กดเรียกโดยพนักงานหรือโดยอุปกรณ์การตรวจจับ โดยสัญญาณเสียงต้องได้ยินทั่วทั้งพื้นที่ของคลังสินค้า เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบ โดยทั่วไปสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นเสียงหวูดยาว 1 นาที ส่วน ‘สัญญาณแจ้งก๊าซรั่ว’ เป็นสัญญาณเสียงเมื่อเครื่องตรวจจับก๊าซตรวจพบความเข้มข้นของก๊าซเกินระดับที่ตั้งไว้ โดยสัญญาณเสียงต้องได้ยินทั่วทั้งพื้นที่ของคลังสินค้า เพื่อให้พนักงานปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินที่กำหนดไว้ ซึ่งสัญญาณแจ้งเหตุก๊าซรั่วเป็นเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ และจะคงที่เป็นเวลา 1 นาที ที่ระดับเสียงหนึ่ง และลดลงจากนั้น
ทั้งนี้ สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และสัญญาณแจ้งเหตุก๊าซรั่วต้องมีเสียงที่แตกต่างกัน โดยมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยแบบกดในตำแหน่งที่เหมาะสมทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร ระดับเสียงต้องเป็นเสียงที่ดัง และแตกต่างจากเสียงปกติตามสภาพแวดล้อม โดยมีการทดสอบการทำงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง นอกจากนี้ ผู้ให้บริการฯ ยังต้องมีการติดตั้ง ‘อุปกรณ์การตรวจจับ’ เพื่อตรวจจับคุณลักษณะของเพลิงไหม้ อย่าง ตรวจจับความร้อน ตรวจจับควัน ตรวจจับเปลวไฟ หรือตรวจจับก๊าซ โดยการเลือกใช้อุปกรณ์ตรวจจับขึ้นอยู่กับประเภทสารเคมี หรือวัตถุอันตราย ที่จัดเก็บและสภาพแวดล้อมในแต่ละสถานที่ ซึ่งบางสถานที่อาจต้องใช้อุปกรณ์ตรวจจับหลายแบบผสมกันเพื่อให้การตรวจจับมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ การติดตั้ง ‘ระบบระงับอัคคีภัย’ อย่าง อุปกรณ์ดับเพลิงและระบบน้ำดับเพลิง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เพลิงไหม้ภายในคลังสินค้าลุกลามเพิ่มขึ้น โดยคลังสินค้าต้องมีเครื่องดับเพลิงที่มีขนาดและจำนวนที่เหมาะสมกับปริมาณสารเคมีและวัตถุอันตรายที่จัดเก็บ และต้องได้รับการตรวจสอบไม่น้อยกว่าหกเดือนต่อหนึ่งครั้ง โดยอุปกรณ์ดับเพลิงต้องติดตั้งในสถานที่เหมาะสม รวมทั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต้องเคลื่อนย้ายง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน
สำหรับการติดตั้ง ‘ระบบน้ำดับเพลิง’ ในคลังสินค้า จะต้องมีการติดตั้งในตำแหน่งที่สามารถฉีดน้ำ หรือสารเคมีผสมน้ำดับเพลิงให้เหมาะสม และสามารถกระจายน้ำได้ทั่วถึง ในกรณีที่มีการติดตั้งหัวกระจายน้ำตามชั้นวางสินค้า ต้องมีหัวกระจายน้ำทุกๆ สองชั้นเป็นอย่างน้อย โดยต้องมีขนาดความยาวและจำนวนเพียงพอที่จะควบคุมเพลิงได้ และสามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมไปถึงปริมาณน้ำดับเพลิงที่ใช้ในการดับเพลิงต้องมีปริมาณที่เพียงพอ เพื่อใช้ในการผจญเพลิงเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมง และควรจัดให้มีปริมาณน้ำสำรอง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับสถานที่เก็บรักษาที่มีเนื้อที่มากกว่า 4,000 ตารางเมตร
ขอบคุณที่มาข้อมูล:https://www.airfreight-logistics.com/
ข้อมูล: กรมโรงงานอุตสาหกรรม