การจัดรูปแบบโรงงานผลิตอาหาร GMP ตอน 2

ต่อเนื่องจากการจัดรูปแบบโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับ GMP ตอนที่ 1 ที่ได้กล่าวถึงส่วนประกอบโครงสร้างอาคารผลิต สำหรับตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงการออกแบบผังโรงงานและการจัดแบ่งพื้นที่ภายในโรงงานผลิต

การจัดรูปแบบผังโรงงานผลิต และบริเวณส่วนต่าง ๆ ควรมีการกั้นแยกพื้นที่บริเวณใช้งานอื่นๆให้เป็นสัดส่วนออกจากบริเวณส่วนการผลิตอาหาร ได้แก่

– สำนักงาน

– ห้องช่าง ห้องผลิตไอน้ำ ห้องไฟฟ้า

– ห้องจัดเก็บสารเคมีและวัตถุอันตราย

– ห้องอาหาร

– ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและ Locker

– ห้องปฏิบัติการ ห้องวิเคราะห์ทางเคมีและจุลชีววิทยา

– ห้องเก็บวัตถุดิบ และห้องเก็บผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

– บริเวณจัดเก็บขยะมูลฝอย

– บริเวณกำจัดน้ำเสีย

 

บริเวณปฏิบัติการผลิตอาหารอาจแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1. สถานที่รับวัตถุดิบ ควรอยู่ด้านหน้าของโรงงาน มีพื้นที่เพียงพอให้รถส่งวัตถุดิบจอดได้ ทำให้สามารถขนถ่ายวัตถุดิบได้อย่างสะดวก และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการตรวจรับวัตถุดิบ

2. สถานที่เก็บวัตถุดิบและภาชนะหีบห่อ ควรกั้นห้องให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้สามารถรักษาความสะอาดและป้องกันควบคุมสัตว์พาหะนำโรคได้ , การจัดเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ต้องวางบนชั้นหรือ Pallet ห้ามวางกับพื้น , การจัดวางชั้นหรือ Pallet ต้องให้มีระยะห่างกันพอสมควร และต้องวางห่างจากฝาผนัง เพื่อให้สามารถเดินทำความสะอาดได้โดยรอบ , การจัดเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดต้องมีป้ายระบุชนิด มีการแสดงวันหมดอายุ สำหรับการเบิกจ่ายวัตถุดิบเป็นไปตามระบบเข้าก่อนออกก่อน (First in first out)

3. สถานที่ผลิตและแปรรูปอาหาร การวางผังการผลิตควรจัดเป็นเส้นตรงหรือรูปตัวยู ให้ทางเข้าของวัตถุดิบเป็นคนละทางกับทางออกของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป , ทางเข้าบริเวณผลิตทุกทางต้องจัดให้มีที่ล้างมืออย่างเพียงพอ , ก๊อกน้ำควรเป็นชนิดใช้เท้าเหยียบหรือศอกดันเปิด หรือมีเซ็นเซอร์เปิดปิดอัตโนมัติ , การออกแบบติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ต้องเหมาะสมและคำนึงถึงการปนเปื้อนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งสามารถทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องจักร และบริเวณที่ตั้งได้ง่ายอย่างทั่วถึง, การจัดวางเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต ต้องจัดวางให้สะดวกต่อการผลิต ควรวางห่างจากฝาผนังและเพดานอย่างน้อย 1 เมตร และสูงจากพื้นอย่างน้อย 20 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถเดินทำความสะอาดได้รอบสายการผลิต และสะดวกในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร , ภาชนะบรรจุวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นสนิม ไม่กัดกร่อน ผิวด้านในเรียบ โค้งมนเพื่อให้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ไหลออกได้ง่าย หากมีรอยเชื่อมต้องขัดให้เรียบ แนบสนิท

4. สถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์สุดท้าย เป็นห้องปิดที่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม , มีการหมุนเวียนและถ่ายเทอากาศได้ดี และสามารถป้องกันและควบคุมแมลงและสัตว์นำโรค ,มีการจัดเรียงสินค้าสำเร็จรูปห้ามวางบนพื้นโดยตรง จะต้องเรียงบน Pallet โดยมีป้ายชี้บ่งวันที่ผลิตและ Lot การผลิต , มีระบบในการจัดเก็บและบริหารจัดการให้มีการหมุนของสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาสินค้าคงคลังหมดอายุ

ที่มาของภาพประกอบ : หนังสือแนวทางการผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี (จี.เอ็ม.พี)

จัดพิมพ์โดย : ศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

นอกจากการจัดรูปแบบผังโรงงานและการแบ่งพื้นที่บริเวณอาคารผลิตแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องให้ความสำคัญกับข้อกำหนด GMP ในหัวข้อต่อไปนี้ด้วย

– การสุขาภิบาล น้ำที่ใช้ภายในโรงงาน ต้องเป็นน้ำสะอาดและจัดให้มีการปรับคุณภาพน้ำตามความจำเป็น ,ต้องจัดให้มีห้องส้วมและอ่างล้างมือหน้าห้องส้วมให้เพียงพอและต้องถูกสุขลักษณะ, มีอุปกรณ์ในการล้างมืออย่างครบถ้วน และแยกต่างหากจากบริเวณผลิต และไม่เปิดสู่บริเวณผลิตโดยตรง , จัดให้มีห้องแต่งตัวและตู้เก็บของส่วนตัว ให้พนักงานเก็บของใช้ส่วนตัว ไม่ให้นำของที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตเข้าไปในสายการผลิต , จัดให้มีวิธีการป้องกันและกำจัดสัตว์และแมลงในสถานที่ผลิตตามความเหมาะสม , จัดให้มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอยที่มีฝาปิดในจำนวนที่เพียงพอ และมีระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่เหมาะสม, จัดให้มีทางระบายน้ำทิ้งและสิ่งโสโครกอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหาร , มีระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

– บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณผลิตต้องไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคน่ารังเกียจตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง หรือมีบาดแผลอันอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน , ต้องสวมเสื้อผ้าที่สะอาดและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน , ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเริ่มปฏิบัติงานและหลังการปนเปื้อน, ใช้ถุงมือที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และสะอาดถูกสุขลักษณะ , กรณีไม่สวมถุงมือต้องมีมาตรการให้คนงานล้างมือ เล็บ และแขนให้สะอาด , ต้องไม่สวมใส่เครื่องประดับต่าง ๆ ขณะปฏิบัติงาน และดูแลสุขอนามัยของมือและเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ , สวมหมวกหรือตาข่ายคลุมผม , ต้องห้ามหรือป้องกันมิให้บุคคลใดทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันพึงรังเกียจเช่น สูบบุหรี่ สั่งน้ำมูกหรือบ้วนน้ำลาย ในบริเวณที่ผลิต บรรจุ หรือสถานที่เก็บอาหารที่ผลิตแล้วและสถานที่เก็บวัตถุดิบ , ต้องป้องกันดูแลไม่ให้สัตว์ทุกชนิดภายในบริเวณที่ใช้ทำการผลิต บรรจุ หรือเก็บอาหารที่ผลิตแล้ว และสถานที่เก็บวัตถุดิบ

– การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด ตัวอาคารสถานที่ผลิตต้องทำความสะอาดและรักษาให้อยู่ในสภาพสะอาดถูกสุขลักษณะโดยสม่ำเสมอ , ต้องทำความสะอาด ดูแลและเก็บรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิตให้อยู่ในสภาพที่สะอาดทั้งก่อนและหลังการผลิต , พื้นผิวของเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตที่สัมผัสกับอาหาร ต้องทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ , การใช้สารเคมีที่ใช้ล้างทำความสะอาด ตลอดจนเคมีวัตถุที่ใช้เกี่ยวข้องกับการผลิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัย และการเก็บรักษาวัตถุดังกล่าวจะต้องแยกเป็นสัดส่วนและปลอดภัย

ที่มา:https://bsc.dip.go.th/th