กฎหมายควบคุมอาคารที่ควรรู้ “ระยะร่น” กับถนนสาธารณะ

“ระยะร่น หรือ ระยะเว้น” เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้าน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ควรทราบข้อกฎหมายนี้ไว้ เพื่อจะได้ออกแบบบ้านของเราให้มีสัดส่วนที่พอดีกับแปลงที่ดิน และใช่ว่าเมื่อเราวางใจให้สถาปนิกทำหน้าที่เหล่านั้นแล้วเราจะไม่ต้องทำอะไรเลย เราในฐานะเจ้าของบ้านควรที่จะหาความรู้เพื่อให้สามารถพูดคุยกับผู้ออกแบบได้อย่างเข้าใจ และมีส่วนช่วยในการตัดสินใจอย่างเหมาะสมกับความต้องการของเราอีกด้วย สิ่งนั้นคือ “กฎหมายควบคุมอาคาร”

ปัจจุบันการควบคุมอาคารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะมีกฎหมายบังคับที่สอดคล้องกันกล่าวคือ มีข้อบัญญัติและกฎกระทรวงหรือเทศบัญญัติของท้องถิ่น บังคับใช้เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องความคุมอาคาร พ.ศ. 2544 กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) และกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) เป็นต้น โดยจะมีการบังคับเกี่ยวกับแนวร่นอาคารจาก  ทางสาธารณะ ที่ว่างด้านหน้า ด้านหลังอาคาร และระยะห่างเขตที่ดินข้างเคียง

ระยะร่นกับถนนสาธารณะ
♦  ถ้าสร้างบ้านใกล้ถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 3 เมตร หากบ้านนั้นสูงไม่เกิน 2 ชั้นหรือไม่เกิน 8 เมตร กรณีสร้างอยู่ต่างจังหวัด แต่หากเป็นบ้านที่สร้างในกรุงเทพฯ จะต้องเป็นบ้านที่สูงไม่เกิน 3 ชั้นหรือไม่เกิน 10 เมตร และพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร โดยบ้านที่สร้างนั้นต้องไม่ใช่ห้องแถว ตึกแถวหรือบ้านแถว

♦  สำหรับอาคารที่สูงเกิน 2 ชั้นหรือเกิน 8 เมตร ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย หรือคลังสินค้า ที่ก่อสร้างสร้างใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างต่างๆ ให้มี ระยะร่น ดังนี้

1. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร
ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร

2. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร
ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของความกว้างของเขตถนนนั้นๆ เช่น ถ้าถนนกว้าง 12 เมตร แนวอาคารต้องร่นห่างจากเขตถนนเท่ากับ 1.20 เมตร

3. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป
ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 2 เมตร